'คมนาคม' มั่นใจไทยสอบผ่านมาตรฐานทางน้ำ

'คมนาคม' มั่นใจไทยสอบผ่านมาตรฐานทางน้ำ

"คมนาคม" มั่นใจสอบผ่าน IMO ตรวจประเมินความปลอดภัยทางน้ำ ปักธงผลตรวจระดับดีเยี่ยม รอลุ้นอีก 1 เดือน คาดมี 4 ประเด็นชี้แจงเพิ่ม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการตรวจประเมินประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศภาคบังคับ (IMO Member State Audit Scheme : IMSAS) วันนี้ (20 ก.พ.) โดยระบุว่า คณะผู้ตรวจประเมินฯ จะตรวจประเมินฯ ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 20-27 ก.พ.นี้ ซึ่งจะตรวจสอบด้านความปลอดภัยในการเดินทาง และการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล คล้ายกับการตรวจประเมินทางการบินขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) อีกทั้งนอกจากจะประเมินว่าผ่านหรือไม่ผ่านแล้ว จะให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงแก้ไขด้วย เพื่อให้การดำเนินงานได้มาตรฐานตามตราสาร IMO ที่บันทึกข้อตกลงไว้ และเกิดความปลอดภัยในชีวิตทางทะเลในระดับภูมิภาค และป้องกันมลพิษทางเรือโดยรวมของไทย

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยเคยเข้าตรวจประเมินภาคสมัครใจ เมื่อปี 2550 โดยผลการประเมินอยู่ในเกณฑ์ผ่าน แต่พบข้อต้องปรับปรุง 14 ข้อ จากการตรวจประเมินทั้งหมด 29 ข้อ อาทิ ข้อกฎหมายต่างๆ ซึ่งครั้งนี้กรมเจ้าท่า เตรียมการทุกเรื่อง และปรับปรุงการปฏิบัติอย่างดี รวมทั้งได้ดำเนินการตรวจประเมินเบื้องต้น (Pre-audit) แล้ว คาดว่าครั้งนี้จะสามารถผ่านการตรวจไปได้ด้วยดี ส่วนการเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ ซึ่งปัจจุบันเกิกขึ้นค่อนข้างบ่อยครั้งนั้น มองว่าไม่น่าจะเป็นประเด็นที่ทำให้ไทยไม่ผ่านการประเมิน เพราะเหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากความผิดพลาดของบุคคล (Human Error) 

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการอธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า การตรวจประเมินครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของไทยที่เข้ารับการตรวจประเมินภาคบังคับ ซึ่งจะมีการตรวจทุก 7 ปี โดยครั้งนี้มั่นใจว่าจะสามารถผ่านการประเมิน แต่อาจจะมีประมาณ 4 ข้อที่ต้องชี้แจงรายละเอียดให้คณะผู้ตรวจประเมินทราบ อาทิ เรื่องการสื่อสารทางเรือ ซึ่งตามมาตรฐาน IMO ต้องเป็นการสื่อสารผ่านดาวเทียม แต่ปัจจุบันเรือของไทยส่วนใหญ่ยังใช้วิทยุสื่อสาร โดยเรื่องนี้กรมเจ้าท่าเร่งรัดดำเนินการอยู่ แต่เนื่องจากการเปลี่ยนระบบเป็นต้นทุนของภาคเอกชน และในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้อาจต้องใช้เวลา อีกทั้งจะมีเรื่องข้อกฎหมายบางฉบับ ที่ให้กำหนดบทลงโทษ ซึ่งขณะนี้กรมเจ้าท่าดำเนินการแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฏีกา จึงยังไม่สามารถออกเป็นกฎหมายใช้บังคับได้ เป็นต้น