‘Wellness Economy’กับโอกาสไทย พลิกโฉมประเทศด้วย ‘เศรษฐกิจสุขภาพ’

 ‘Wellness Economy’กับโอกาสไทย  พลิกโฉมประเทศด้วย ‘เศรษฐกิจสุขภาพ’

ในบรรดาเมกะเทรนด์ในการพัฒนาเศรษฐกิจทั่วโลกต้องยอมรับว่าเรื่องของ “เศรษฐกิจสุขภาพ (Wellness Economy)” มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ไม่เพียงเป็นโอกาสในการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเท่านั้นยังเป็นโอกาสในการเติบโตและพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยในอนาคต

Key points

  • เศรษฐกิจสุขภาพ หรือ “Wellness Economy”มีแนวโน้มเติบโตตามการดูแลสุขภาพ และสังคมสูงอายุ
  • มูลค่าการตลาดของเศรษฐกิจสุขภาพปัจจุบันอยู่ที่ 5 ล้านดอลลาร์ เติบโตปีละ 5-6%
  • ประเทศไทยมีความพร้อมและศักยภาพในการเป็น “เมืองหลวงสุขภาพโลก”
  • จังหวัดนครศรีธรรมราชสามารถเป็นบลูโซน หรือพื้นที่ที่มีคนอายุยืนมากสุดแห่งที่ 6 ของโลก
  • การประกวด Miss Wellness World Thailand จะช่วยโปรโมทยุทธศาสตร์การเป็นฮับเศรษฐกิจสุขภาพของไทยในเวทีโลก

 

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และประธานสถาบันการสร้างชาติ โลกหลังการระบาดของโควิด-19 รวมทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของหลายประเทศทั่วโลก โดยในปี 2593 ประชากรโลกกว่า 21.5% หรือประมาณ 2 พันล้านคน จะเป็นคนสูงอายุนั้น

ทำให้กระบวนทัศน์ด้านสุขภาพของโลกกำลังเปลี่ยนจากการมุ่งเน้นการรักษาโรคและความเจ็บป่วย ไปสู่การป้องกันการเป็นโรคและการส่งเสริมการดูแลสุขภาพอย่างเป็นองค์รวมและบูรณาการ ผู้คนจะให้ความสนใจในการดูแลสุขภาพมากขึ้น และทำให้ความต้องการสินค้าและบริการด้านสุขสภาพเพิ่มขึ้น

เศรษฐกิจสุขภาพ (Wellness Economy) จึงเป็นเศรษฐกิจที่เป็นดาวรุ่ง มีสัดส่วนถึง 5.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั่วโลก และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในปี 2565 ตลาดสุขภาพและสุขสภาพของโลก (global health & wellness market) มีมูลค่าประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์  และมีอัตราการขยายตัว 5-6% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2564-2573 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2 – 3%

 ‘Wellness Economy’กับโอกาสไทย  พลิกโฉมประเทศด้วย ‘เศรษฐกิจสุขภาพ’

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่าเมื่อเศรษฐกิจ Wellness เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ประเทศไทยจะต้องไขว่คว้าโอกาสนี้ไว้ให้ได้ เนื่องจากเรามีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็น “เมืองหลวงสุขสภาพโลก” หากได้รับการส่งเสริม ผลักดันอย่างถูกต้อง

ประเทศไทยมีศักยภาพสูงเป็น wellness Hub

ปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางด้านบริการทางการแพทย์ในภูมิภาค (Regional Medical Hub) ที่ได้รับการยอมรับอยู่แล้ว เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามารับบริการทางการแพทย์และศัลยกรรมอันดับต้น ๆ ของโลก เพราะมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูงและคนไทยมีใจแห่งการบริการ เทคโนโลยีในการให้บริการที่ทันสมัย โรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานสากล โดยมีจำนวนโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน JCI มากเป็นอันดับ 4 ของโลกในปี พ.ศ.2562 และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสมเหตุสมผลและต่ำกว่าการบริการในประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนี้มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ (John Hopkins University) จัดอันดับโดยใช้ดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพโลก โดยประเทศไทยถูกจัดเป็นอันดับ 5 ของโลกและอันดับ 1 ของเอเชียในปี พ.ศ.2564

ประเทศไทยเป็นจุดหมายที่คนต่างชาติต้องการเข้ามารับบริการด้านสุขสภาพ โดย Wellness Tourism Initiative 2020 ได้ระบุว่า ประเทศไทยได้รับการโหวตให้เป็นประเทศที่ผู้คนอยากมาท่องเที่ยวเชิงสุขสภาพเป็นอันดับที่ 2 ของโลก ขณะที่นิตยสาร International Living ได้จัดทำ 2022 Global Retirement Index โดยจัดให้ประเทศไทยเป็นอันดับ 9 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชีย ในแง่ประเทศที่คนอยากมาใช้ชีวิตยามเกษียณอายุมากที่สุดในโลก

“เศรษฐกิจสุขภาพสอดคล้องกับจุดแกร่งของประเทศ ประเทศไทยมีทรัพยากรและปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาหารไทยที่มีชื่อเสียงเป็นรู้จักทั่วโลก วัตถุดิบอาหารมีความหลากหลายและมีคุณภาพ และมีมาตรฐานในการผลิตอาหารส่งออกที่ปลอดภัย

ประเทศไทยเป็นจุดหมายด้านการท่องเที่ยวระดับโลก เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม ศิลปะและวัฒนธรรมที่น่าทึ่ง และคนไทยที่มีอัธยาศัยดีและมีใจบริการ ประเทศไทยยังมีชื่อเสียงด้านการนวดแผนไทย มวยไทย รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์และบริการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยกว่า 300 ชนิดในท้องตลาด ซึ่งสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกมากกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งหากต่อยอดให้ดีจะสามารถเป็นเมืองหลวงศักยภาพระดับโลกได้”
       

 ‘Wellness Economy’กับโอกาสไทย  พลิกโฉมประเทศด้วย ‘เศรษฐกิจสุขภาพ’

ดัน ‘บลูโซน’ แห่งที่ 6 ของโลกในประเทศไทย

 ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ ได้เขียนในหนังสือเรื่อง “สุวรรณภูมิแห่งสุขภาพ สุขสถานะของศตวรรษนิกชน”เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจสุขภาพว่า ปัจจุบันดัชนีชี้วัดการเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านสุขภาพคือการมีคนอายุยืนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีคนอายุ 90 ปีขึ้นไปซึ่งมีการศึกษาวิจัยและเรียกพื้นที่นี้ว่า “บลูโซน” ปัจจุบันมีอยู่ 5 พื้นที่ทั่วโลกคือ 1.เกาะซาร์ดิเนีย ประเทศอิตาลี 2.เกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น 3.ชุมชนเซเว่นเดย์ เมืองโลมาลินดา รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ 4.เกาะคิอาเรีย ประเทศกรีซ และ 5.คาบสมุทรนิโคยา ประเทศคอสตราริกา ซี่งหากพิจารณาจากเงื่อนไขของประชาชนกรและลักษณะทางพื้นที่ของทั้ง 5 พื้นที่แล้วพบว่าประเทศไทยก็มีพื้นที่แห่งโอกาสที่จะส่งเสริมให้เป็นบลูโซนแห่งที่ 6 ของโลก ซึ่งได้มีการนำเอานักวิชาการจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกลงมาเก็บข้อมูลและทำงานวิจัย อย่างต่อเนื่องพบว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพในประเทศไทยที่จะเป็นพื้นที่บลูโซนคือพื้นที่ อ.หัวไทรและพื้นที่ใกล้เคียง ใน จ.นครศรีธรรมราช

โดยมีองค์ประกอบสนับสนุนคล้ายกับพื้นที่บลูโซนทั้ง 5 แห่งของโลก ได้แก่ การอยู่บริเวณคาบสมุทรเป็นพื้นที่ราบติดชายทะเลและภูเขา พื้นที่มีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีวัตถุดิบที่ทำอาหารได้มากมายทั้งอาหารทะเล ข้าว พืชผักที่มีการปลูกในพื้นที่หลากหลาย โดยวัฒนธรรมการกินอาหารมีการกินผักพื้นบ้าน วัตถุดิบสดจากทะเล และรับประทานแกงสมุนไพรอยู่บ่อยๆ

ขณะที่สภาพอากาศในพื้นที่สบายมีลมทะเลตลอดวันทำให้ปัญหาในการเผชิญกับฝุ่น P.M.2.5 มีน้อย และประการสุดท้ายคือการเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ช่วยให้ประชาชนมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ มีอารมณ์ที่มั่นคงผ่อนคลายทำให้อายุคนในพื้นที่ยืนนาน  เช่นเดียว การมีสังคมที่ได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอยู่เสมอๆ ในร้านน้ำชา สภากาแฟ ทำให้ยังคงมีความหมายในการมีชีวิตอยู่เสมอ

 

เวที Miss Wellness World Thailand ยุทธศาสตร์หนุนไทยเป็นฮับเศรษฐกิจสุขภาพ

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่ายุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยให้การผลักดันประเทศไทยสู่เมืองหลวงสุขสภาพโลกคือต้องมีการโปรโมทส่งเสริมเรื่องนี้อย่างจริงจัง  จึงมีแนวคิดที่จัดการประกวด “Miss Wellness World Thailand" เป็นหนึ่งในเป็นจริง และการประกวดจัดขึ้นเพื่อมีส่วนสนับสนุนธุรกิจต่าง ๆ เช่น ธุรกิจด้านอาหารเพื่อสุขภาพ วิตามิน อาหารเสริม การประกันสุขภาพ โรงพยาบาล เครื่องมือแพทย์ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ โรงแรม ฟิตเนส สปา การท่องเที่ยว ฯลฯ เพื่อประโยชน์การพัฒนาเศรษฐกิจไทย

“นางงามของ Miss Wellness World Thailand จะต้องมีความสวย ความเก่ง และฉลาด มีไลฟ์สไตล์ที่มีสุขสภาพ (wellness lifestyle) ที่ไม่ใช่แค่มีสุขภาพดี แต่ยังครอบคลุมไปถึงเรื่องของการมีร่างกาย อารมณ์ ความคิด และจิตใจที่ดี ที่จะช่วยสร้างความสุขในตัวเอง และไปสร้างความสุขให้กับผู้อื่น ตามแนวคิดของเวที คือ สวย สร้าง สุข

ซึ่งการที่จะเกิด wellness lifestyle ได้นั้น Miss Wellness จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของสุขสภาพ (wellness) จนเกิดเป็นวิถีชีวิต และสามารถส่งต่อได้ Miss Wellness จะต้องมีเสน่ห์สามารถเปิดใจคนให้สนใจเรื่องสุขสภาพ Miss Wellness จะต้องมีใจรักในการทำประโยชน์ให้สังคม ทำหน้าที่เป็นทูตสุขสภาพ ผลักดันแนวคิดสุขสภาพ ช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศไทยสู่การเป็นเมืองหลวงสุขสภาพโลก”

โดยเกณฑ์การตัดสินและคัดเลือกนางงาม โดยพิจารณาจากการมี wellness 3 ด้าน คือ

  • HQ หรือ Health Quotient – (Physical) คือ ความฉลาดในการดูแลสุขภาพ ความสามารถในการดูแลสุขภาพของตน การตรวจมวลร่างกาย
  • EQ หรือ Emotional Quotient – (Mental) คือ ความฉลาดทางอารมณ์ โดยดูจากการตอบสนองต่อสถานการณ์บางอย่างในระหว่างการประกวด หรือการสัมภาษณ์
  • MQ (Moral Quotient) – (Spiritual) คือ ความฉลาดทางศีลธรรมและจริยธรรม โดยดูจากประวัติการทำงานเรื่องสังคม

ทั้งนี้การประกวดจะปิดรับใบสมัครวันที่ 12 มีนาคม 2566 และประกาศผลผู้เข้ารอบวันที่ 18 มีนาคม 2566

โดยสาวงามที่สนใจเข้าประกวด ส่งใบสมัครได้ทาง อีเมล์ [email protected] และดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

Facebook

https://www.facebook.com/Misswellnessworldthailand/

Instagram

https://instagram.com/misswellnessworldthailand?igshid=YmMyMTA2M2Y=

 ‘Wellness Economy’กับโอกาสไทย  พลิกโฉมประเทศด้วย ‘เศรษฐกิจสุขภาพ’