อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า

อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า

รถยนต์ไฟฟ้าเป็นคืออีกทางเลือกของการประหยัดพลังงาน แต่อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า หากมีการส่งเสริมที่ตรงจุดจะสามารถพัฒนาเป็นห่วงโซ่อุปทานสำหรับยานยนต์แห่งอนาคตที่เข้มแข็ง และเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในระยะยาว

ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 ที่เกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเจนคือ การตื่นตัวเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าที่หลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่แท้จริงแล้ว อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ คือ (1) ยานยนต์ที่สามารถเชื่อมต่อสิ่งต่าง ๆ (Connected) (2) ยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ (Automated) (3) ยานยนต์ที่ใช้ร่วมกัน (Shared) และ (4) ยานยนต์ไฟฟ้า (Electrified) หรือเรียกโดยย่อว่า CASE แต่การสนับสนุนของภาครัฐที่ผ่านมาของไทยให้ความสำคัญกับยานยนต์ไฟฟ้าหรือเฉพาะตัว E มากกว่าด้านอื่น ๆ ทำให้ภาพความเข้าใจเกี่ยวกับโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง

อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า

แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราจะพบตามสื่อต่าง ๆ ว่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำทั่วโลกต่างเดินหน้าสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทผู้ผลิตชั้นนำจาก จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เพื่อลงทุนวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ในอนาคตของตนอย่างต่อเนื่อง

โดยเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกที่จะมาทดแทนเครื่องยนต์สันดาปภายในเองก็ยังไม่หยุดนิ่งอยู่ที่แบตเตอรี่ไฟฟ้าลิเธียม (Lithium-ion) แต่ยังมีการพูดถึงและอยู่ระหว่างการพัฒนาแบตเตอรี่แห่งอนาคตที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าอย่าง แบตเตอรี่โซลิดสเตท (Solid-state) รวมไปถึงเทคโนโลยีทางเลือกประเภทอื่น เช่น เทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel cell)  และเครื่องยนต์สันดาปไฮโดรเจน

อีกแนวโน้มที่พบ คือ การพัฒนายานยนต์แห่งอนาคตในด้านอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นคู่ขนานกัน และชัดที่สุดคือการพัฒนาระบบ Autonomous driving ที่บริษัทรถยนต์หลายค่ายมีแผนจะเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ของตนที่มีระบบการขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับ 3 ขึ้นไป ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งการพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติเหล่านี้เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีการสื่อสาร เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เรื่องดังกล่าวครอบคลุมไปถึงการพัฒนารถยนต์ให้สามารถเชื่อมต่อกับสิ่งอื่นๆ รอบตัวรถยนต์ด้วย (Connected) เราจึงจะเห็นความร่วมมือของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์กับกลุ่มผู้ผลิตในอุตสาหกรรมสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มผู้พัฒนา Software กลุ่มผู้ผลิตเหล่านี้ถูกรวมเข้ามาในห่วงโซ่อุปทานของรถยนต์และทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ

ผลการศึกษาของ อาชนัน และคณะ (2565) เสนอต่อ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) พบว่า มาตรการอุดหนุนที่ผ่านมาสนับสนุนบริษัทรถยนต์ข้ามชาติให้เข้ามาลงทุน ในขณะที่บทบาทของผู้ประกอบการไทยยังมีจำกัด แม้จะมีข้อกำหนดให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมต้องสร้างห่วงอุปทานโดยเฉพาะแบตเตอรี่ แต่หลาย ๆ บริษัทรถยนต์ยังลังเลที่จะเข้าร่วมโครงการ เพราะกังวลเกี่ยวกับขนาดตลาดที่อาจไม่โตพอให้การผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้ในประเทศไทยคุ้มทุน ซึ่งเป็นแนวโน้มที่พบจากรูปแบบการค้าและการลงทุนของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (Kohpaiboon, forthcoming)

ในขณะที่ไทยยังไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการสนับสนุนการพัฒนายานยนต์แห่งอนาคตในด้านอื่น ๆ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีการผลิต แต่เรามีผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพและเริ่มตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง (ทั้งจากกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และกลุ่มผู้ผลิตสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์) เพียงแต่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ยังอยู่ในลักษณะกระจัดกระจาย ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพที่เห็นโอกาสทางธุรกิจและอยากเข้ามาในอุตสาหกรรมชิ้นส่วน แต่ไม่รู้ต้องเริ่มต้นอย่างไร ไม่มีพื้นที่ส่วนกลางให้ผู้ประกอบการเหล่านี้มาพบกันเพื่อพัฒนาต่อยอดไปสู่การสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต

ท่ามกลางแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น การส่งเสริมของรัฐบาลไทยที่มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคโดยเฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถกระบะไฟฟ้า (อย่างที่เราเคยเป็นกรณีเครื่องยนต์สันดาปภายใน) ด้วยสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทางด้านการลงทุนอาจไม่ได้ผลมากในบริบทของยานยนต์ไฟฟ้า และผลประโยชน์ที่ตกกับผู้ประกอบการไทยมีจำกัด การมียุทธศาสตร์ที่เปิดกว้างสำหรับยานยนต์แห่งอนาคตที่ไปไกลกว่ายานยนต์ไฟฟ้า จะเป็นการดึงกลุ่มผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาและสร้างโอกาสทางธุรกิจที่มากขึ้น และหากมีการส่งเสริมที่ตรงจุดจะสามารถพัฒนาเป็นห่วงโซ่อุปทานสำหรับยานยนต์แห่งอนาคตที่เข้มแข็ง และเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในระยะยาว    

                                                        อ.เพ็ชรธรินทร์ วงศ์เจริญ

                                                        รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์

                       ศูนย์ความสามารถในการแข่งขัน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์