ยกเลิกภาษีเอดีเหล็กรีดร้อน เตรียมเจอทุ่มตลาด ทำลายเชื่อมั่นนักลงทุน

ยกเลิกภาษีเอดีเหล็กรีดร้อน เตรียมเจอทุ่มตลาด ทำลายเชื่อมั่นนักลงทุน

ผู้ผลิตเหล็กรีดร้อนแจงยกเลิกการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) สินค้าเหล็ก สั่นคลอดความเชื่อมั่นการลงทุน ชี้เตรียมรับมือสินค้าทุ่มตลาด จากกำลังการผลิตส่วนเกินกว่า 170 ล้านตัน

จากผลการพิจารณาขั้นต้นให้ยุติการขยายเวลาการบังคับใช้การตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจากประเทศบราซิล อิหร่าน และตุรกี โดยทั้ง 3 ประเทศยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอีกกว่า 13 ล้านตัน และยังคงมีพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากการถูกใช้มาตรการ AD สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนทั่วโลก 

 

นายบัณฑูรย์ จุ้ยเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จี สตีล จำกัด (มหาชน) และบริษัท จี เจ สตีล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมฯ และเป็น 2 ใน 6 ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนรายสำคัญของประเทศ กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ร่วมจับมือกับ นิปปอน สตีล คอร์ป ในฐานะผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก โดยได้มีการลงทุนในบริษัทเหล็กทั้ง 2 บริษัทเป็นมูลค่ากว่า 25,000 ล้านบาท เมื่อปี 2565 เพื่อเข้ามาพัฒนาธุรกิจเหล็กในประเทศให้เติบใหญ่ ด้วยการพัฒนายกระดับเหล็กให้มีคุณภาพแข่งขันได้ และจะช่วยลดการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศได้ ที่สำคัญจะทำให้ต้นทุนรวมในการผลิตเหล็กต่ำลง

อีกทั้งเป็นกลุ่มทุนที่มีเครือข่ายด้านการตลาดในอุตสาหกรรมเหล็กเชื่อมโยงไปทั่วโลก โดยนักลงทุนจากญี่ปุ่นมองเห็นศักยภาพของผู้ผลิตเหล็กในประเทศ รวมถึงโอกาสในการพัฒนาตลาดในประเทศ เนื่องด้วยอุตสาหกรรมเหล็กแผ่นรีดร้อนเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญในการเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมที่สำคัญต่างๆของประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่นเดียวกับที่มีการพัฒนาในญี่ปุ่น 

ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นเชื่อมั่นในประเทศไทยเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้มีการใช้สินค้าในประเทศ รวมถึงไม่สนับสนุนการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากต่างประเทศ โดยมีการบังคับใช้กฎหมายพ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่มีร่างผลการพิจารณาทบทวนการบังคับใช้มาตรการ AD สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจาก 3 ประเทศที่มีมติให้ยุติมาตรการไปนั้น สร้างความกังวลใจให้กับนักลงทุนเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากสินค้าจากทั้ง 3 ประเทศนี้แล้ว ขณะนี้ยังมีการพิจารณาต่ออายุมาตรการสินค้าทุ่มตลาดจากประเทศจีน และมาเลเซียด้วย 

โดยเฉพาะจากกรณีประเทศจีน ที่ทั่วโลกตระหนักดีว่าเป็นสาเหตุหลักของกำลังการผลิตส่วนเกินของโลก และมีการทุ่มตลาดสินค้าเหล็กไปทั่วโลก รวมถึงมีพฤติกรรมการหลบเลี่ยงมาตรการโดยการเจือธาตุอัลลอยไม่ให้สินค้าอยู่ในพิกัดศุลกากรของมาตรการ AD ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน

“เมื่อพิจารณาจากศักยภาพในการส่งออกทั้ง 5 ประเทศมีกำลังการผลิตส่วนเหลือกว่า 170 ล้านตัน รวมถึงพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมที่ถูกใช้มาตรการ AD สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจาก 8 ประเทศทั่วโลก โอกาสที่ประเทศดังกล่าวจะกลับมาทุ่มตลาดหากยุติมาตรการไปนั้นมีสูงมาก และเชื่อว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และหากเป็นเช่นนี้ต่อไปความเชื่อมั่นของนักลงทุนญี่ปุ่นหรือแม้แต่นักลงทุนประเทศต่างๆที่ต้องการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศจะต้องสั่นคลอนอย่างแน่นอน”

นายนาวา จันทนสุรคน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตรายหลักของประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในช่วงปัญหาเศรษฐกิจโลกนี้ ประเทศต่างๆพยายามดูแลปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศของตน และมาตรการป้องกันการทุ่มตลาดก็เป็นการปฏิบัติที่สำคัญ โดยทั่วโลกมีการใช้มาตรการ AD เฉพาะสินค้าเหล็กมากถึง 503 มาตรการ และตัวอย่างประเทศทุ่มตลาดที่ยังถูกใช้มาตรการ AD สินค้าเหล็กได้แก่ จีน 149 มาตรการ ตุรกี14 มาตรการ เป็นต้น นอกจากนี้ในปัจจุบันประเทศบราซิล อิหร่าน และตุรกี ยังมีกำลังการผลิตส่วนเหลืออีกกว่า 13 ล้านตันซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการส่งออกของประเทศดังกล่าว

ดังนั้นจึงเป็นที่ชัดเจนว่าหากมีการยุติมาตรการ AD จะเกิดช่องว่างให้สินค้าทุ่มตลาดไหลทะลักเข้ามาสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมภายใน และเศรษฐกิจของประเทศอย่างแน่นอน และหากสินค้าทุ่มตลาดจาก จีน ตุรกี บราซิล อิหร่าน และมาเลเซีย กลับมาทุ่มตลาดมายังประเทศไทย สร้างความเสียหายจนทำให้อุตสาหกรรมในประเทศต้องปิดกิจการ ประเทศก็จะเสียการสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศที่มีมูลค่ากว่า 10,800 ล้านบาท 

ซึ่งหากประเมินการหมุนวนทางเศรษฐกิจอีกอย่างน้อย 3 เท่าก็จะเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 32,400 ล้านบาท นอกจากนี้ประเทศยังต้องเสียดุลการค้าเพิ่มจากการนำเข้าสินค้าเหล็กเพิ่มอีก 2 ล้านตัน/ปี คิดเป็นเสียดุลการค้ามูลค่าประมาณ 50,000 ล้านบาท / ปี (ประเมินราคาสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนอย่างน้อย 25,000 บาท/ตัน)

นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศปี 2565 (ม.ค.-พ.ย.) มีการอัตราการใช้กำลังการผลิตเพียงประมาณ 30% เป็นสินค้าเหล็กทรงยาว 32% (คงที่จากปี 2564) และเหล็กทรงแบน 28.2% (ลดลงจาก 33% ในปี 2564) ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้ยังคงมีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำคือปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินเป็นจำนวนมากในระดับโลกและอาเซียนทำให้เกิดสินค้าทุ่มตลาดนำเข้าจากต่างประเทศ โดยปัจจุบันยังคงพบอยู่โดยเฉพาะจากประเทศจีน และเวียดนาม ที่ยังคงมีสินค้าทุ่มตลาดในหลายๆผลิตภัณฑ์เหล็ก โดยเฉพาะการส่งสินค้าเหล็กที่เจืออัลลอยเพื่อหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้าในปัจจุบัน

"สถาบันเหล็กฯ ได้มีการหารือร่วมกับสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าอาเซียนในการแก้ปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังไม่สามารถดำเนินการได้มีประสิทธิภาพเท่ากับมาตรการของต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา หรือ สหภาพยุโรป ที่มีการบังคับใช้มาตรการ AD และ มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (Anti Circumvention : AC) กับสินค้าดังกล่าว หรือแม้แต่การใช้มาตรการ Section 232 ของสหรัฐ หรือ Safeguard ของ สหภาพยุโรป"

นอกจากนี้ข้อมูล WTO ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565 พบว่ามีการบังคับใช้มาตรการ AD / CVD ต่อสินค้าเหล็กสำเร็จรูปถึงประมาณ 200 กรณี และยังอยู่ระหว่างการไต่สวนอีกประมาณ 120 กรณี (แยกตามสินค้า และประเทศที่บังคับใช้) โดยประเทศจีน และเวียดนามเป็นประเทศที่ถูกใช้มาตรการมากเป็นอันดับที่ 1 และ 2 ตามลำดับ 

ส่วนประเทศหลักที่ใช้มาตรการ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา และสหภาพยุโรป เป็นต้นซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ก็ยังให้ความสำคัญในการการปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศจากการค้าที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล็กเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่จะเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมที่สำคัญอื่นๆ