‘แรงงานขาด-วัสดุแพง’ ดันต้นทุนสร้างบ้านพุ่ง

จับตาอสังหาริมทรัพย์​ไทย​ หลังวิกฤติ​โควิดคลาย​ แต่ประสบปัญหา​แรงงานขาด​ ค่าแรงและราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่ม ดันต้นทุนสร้างบ้านพุ่ง​ ฟังจากปาก​ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน​ โอฬาร จันทร์ภู่

จับตาอสังหาริมทรัพย์​ไทย​ หลังวิกฤติ​โควิดคลาย​ แต่ประสบปัญหา​แรงงานขาด​ ค่าแรงและราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่ม ดันต้นทุนสร้างบ้านพุ่ง​ ฟังจากปาก​ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน​ โอฬาร จันทร์ภู่

  นายโอฬาร จันทร์ภู่ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า จะเร่งเดินหน้านโยบายเร่งด่วน รับมือต้นทุนราคาก่อสร้างพุ่ง ชง 2 วาระด่วน ประกอบด้วย 1.ลดปัญหาขาดแคลนแรงงานในธุรกิจรับสร้างบ้าน โดยขอให้กระทรวงแรงงานพิจารณาเปิดให้ขึ้นทะเบียนแรงงานในประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลน 2.การขออนุญาตก่อสร้างบ้านออนไลน์ ให้หน่วยงานภาครัฐพิจารณา หวังลดข้อจำกัดและเพิ่มความสามารถในการทำธุรกิจ

            โดยในปี 2565 ธุรกิจรับสร้างบ้าน มีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 12,500 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 9% สะท้อนถึงความต้องการปลูกสร้างบ้านพักอาศัยของผู้บริโภคในตลาดยังคงมีจำนวนมาก ซึ่งมั่นใจว่าตลาดรับสร้างบ้านในปี 2566 ยังมีโอกาสขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เพราะผู้บริโภครับรู้และเชื่อมั่นในบริการของบริษัทรับสร้างบ้านมากขึ้น โดยคาดมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านจะแตะระดับ 13,250 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากปี 2565

            จากสถานการณ์ที่ท้าทายรอบด้านในปัจจุบันทั้งความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ภาวะดอกเบี้ยและต้นทุนขาขึ้น รวมถึงปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญสำหรับการสร้างบ้าน ส่งผลค่อนข้างมากต่อราคาบ้านทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยทางสมาคมได้รวบรวมข้อจำกัด พร้อมวางแนวทางรับมือและกลยุทธ์ เพื่อสร้างการเติบโตของตลาดรับสร้างบ้านไว้ ดังนี้

            ปัญหาของต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น ที่ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ต้นทุนในการก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งบริษัทรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ ยังแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นนี้อยู่ หากปัญหานี้ยังไม่คลี่คลายอาจจะนำไปสู่การปรับขึ้นราคาบ้านในที่สุด โดยคาดว่าจะมีการปรับขึ้นราคาบ้านในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ประมาณ 5-10%

            อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญ คือการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากสถานการณ์เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ ทำให้เกิดความต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในภาคก่อสร้างอย่างหนัก เนื่องจากแรงงานที่มีอยู่ก่อนหน้านี้บางส่วนเปลี่ยนอาชีพ และบางส่วนเข้าไปสู่ภาคอุตสาหกรรมอื่น เช่น ภาคบริการ การท่องเที่ยว เป็นต้น ทำให้ปัจจุบันธุรกิจรับสร้างบ้านขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ซึ่งทางสมาคมมีข้อมูลว่า แรงงานตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ที่หนังสือเดินทาง (Passport) หมดอายุ และวีซ่า (VISA) สิ้นสุด มีแรงงานจำนวนมากที่ไม่ได้ไปดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ทำให้แรงงานเหล่านี้กลายเป็นแรงงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทางสมาคมขอให้กระทรวงแรงงานพิจารณาเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานในประเทศอีกรอบ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน

            รวมถึงข้อจำกัดของการทำธุรกิจรับสร้างบ้าน ที่มาจากขั้นตอนการขออนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐยังคงมีความซับซ้อน นายโอฬารกล่าวว่า จากปัจจัยดังกล่าวนำมาสู่การหาแนวทางรับมือให้ก้าวข้ามภาวะวิกฤตต่างๆ ไปให้ได้ โดยสมาคมได้หารือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการขออนุญาตก่อสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ ผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งนี้ เพื่อลดขั้นตอนและเพิ่มความรวดเร็วในการทำงาน รวมถึงเป็นการสร้างความโปร่งใสในการทำงานระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน

            เบื้องต้นทาง กทม. จะอนุญาตให้บ้านไม่เกิน 3 ชั้น และขนาดไม่เกิน 300 ตรม. สามารถยื่นก่อสร้างผ่านระบบออนไลน์ หากผลตอบรับดีเตรียมขยายพื้นที่การก่อสร้างอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งที่ผ่านมา สมาคมยังได้เรียกร้องให้ผู้ว่าฯกทม. เปิดสายตรง เพื่อรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องการขออนุญาตก่อสร้างด้วย”