7 พรรคประชัน ‘นโยบาย SME’ ตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่อง- ลดต้นทุน - เพิ่มส่งออก

7 พรรคประชัน ‘นโยบาย SME’  ตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่อง- ลดต้นทุน - เพิ่มส่งออก

ประชันนโยบายเอสเอ็มอี 7 พรรคการเมืองเข้มข้น เสนอทางออกเพิ่มเงินทุนเอสเอ็มอี ลดภาษี-ต้นทุน สร้างโอกาสแข่งขัน แก้กฎหมายเป็นอุปสรรคให้เอสเอ็มอี หนุนเพิ่มขีดสามารถแข่งขันเอสเอ็มอีไทย

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าสิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ของเอสเอ็มอีคือเรื่องของทุน และการหาเงินทุนให้กับเอสเอ็มอีโดยไม่สร้างปัญหาใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากในช่วงโควิด-19 เงินทุนหายไปจากระบบ 3 ล้านล้านบาท นำมาซึ่งวิกฤติที่ส่งผลมาถึงปัจจุบันเพราะเอสเอ็มอีไม่ขยายกิจการต่อ มีการคืนหนี้และเลิกกิจการไป หรือโดนต่างชาติซื้อกิจการไป พรรคประชาธิปัตย์เสนอนโยบายการตั้ง “กองทุนวายุภักษ์เพื่อเอสเอ็มอี” วงเงิน 5 แสนล้านบาท โดยเป็นการแปลงหนี้เป็นทุนเพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถกู้เงินใหม่ได้สามารถเดินหน้ากิจการสร้างการเติบโตเศรษฐกิจต่อไปได้

โดยกองทุนฯจะดำเนินการโดยเป็นหุ้นส่วนร่วมกับเอสเอ็มอี ถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% ให้เจ้าของซื้อหุ้นคืนได้ในปีที่ 10 ซึ่งดีกว่าที่จะให้กองทุนวายุภักษ์ไปลงทุนในต่างประเทศแล้วเกิดผลขาดทุน เพราะนโยบายนี้สามารถช่วยเอสเอ็มอีได้โดยตรง

7 พรรคประชัน ‘นโยบาย SME’  ตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่อง- ลดต้นทุน - เพิ่มส่งออก

“วิธีนี้ช่วยแก้ปัญหาแบบวินวิน เนื่องจากเป็นการเอาสินทรัพย์ของรัฐมาใช้ประโยชน์ เอสเอ็มอีมีเงินใหม่ และไม่เกิดNPL ในสถาบันการเงิน โดยต่างจากวิธีการที่พรรคการเมืองหลายๆพรรคทำให้ระบบแบงก์อ่อนแอ ซึ่งเพื่อให้ระบบต่างๆขับเคลื่อนไปได้ โดยเอสเอ็มอีปัจจุบันไม่อยากลงทุนใหม่ เศรษฐกิจไทยจะโตได้ แต่วิธีการนี้เราจะเอาเรื่องนี้มาสร้างการหมุนเวียนเศรษฐกิจใหม่ๆในประเทศได้

ด้าน ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ทิศทางในการบริหารประเทศที่เกี่ยวข้องกับเอสเอ็มอีจะต้องแก้ปัญหาใน 3 เรื่อง ที่กระทบธุรกิจเอสเอ็มอีได้แก่ ต้นไม้พิษ ต้นเงิน ต้นทุน และต้นตอของปัญหา

7 พรรคประชัน ‘นโยบาย SME’  ตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่อง- ลดต้นทุน - เพิ่มส่งออก

โดยต้นเงินคือปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเอสเอ็มอี โดยปัจจุบันเอสเอ็มอีมีความเสี่ยง และธนาคารไม่อยากรับความเสี่ยง ต้องมีกลไกตรงกลางคือการค้ำประกันสินเชื่อ แม้มีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) แต่ยังมีข้อจำกัด ต้องยกระดับ บสย.ให้มีบทบาทและเงินทุนมากขึ้นในการค้ำประกัน

ส่วนเรื่องต้นทุน ต้องเร่งแก้เรื่องของต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยปัจจุบันเอสเอ็มอีโดนภาระค่าไฟฟ้าสูงต้องเร่งแก้ปัญหา 4 เรื่องคือ ลดการพึ่งพิงก๊าซ รื้อโครงสร้างค่าไฟฟ้า รื้อเรื่องการสำรองไฟฟ้า และเร่งเรื่องของการเจรจาพื้นที่ทับซ้อน

ส่วนการแก้ปัญหาที่ต้นตอ คือเรื่องของการแข่งขันและเรื่องของการผูกขาด โดยพรรคเพื่อไทยยืนตรงข้ามกับการผูกขาดแต่ไม่ได้ไปทุบทุนใหญ่ ต้องทำเวทีคู่ขนาน โดยให้สิทธิประโยชน์ให้กับรายใหญ่และรายย่อยได้เดิน และนำเอาศักยภาพออกมาอย่างเต็มที่

นอกจากนี้เอสเอ็มอีไทยอยู่ในสาขาการค้าขายและบริการกว่า 80% แปลว่าเอสเอ็มอีไทยไม่ใช่ส่วนหนึ่งของซัพพายเชนของการผลิต ต้องหาทางดึงการลงทุนทางตรง (FDI) ในประเทศเข้ามามากขึ้นและให้เอสเอ็มอีเป็นส่วนหนึ่งของซัพพายเชน โดยต้องเพิ่มการส่งออกของเอสเอ็มอีจากปัจจุบันได้ 14 – 15% เท่านั้น รัฐบาลใหม่ต้องเข้าไปทำให้สินค้าของเอสเอ็มอีไทยเข้าไปสอดแทรกในซัพพายเชนโลกได้ และนายกรัฐมนตรีต้องเป็นเซลล์แมนในการส่งเสริมเอสเอ็มอีไปยังต่างประเทศด้วย

7 พรรคประชัน ‘นโยบาย SME’  ตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่อง- ลดต้นทุน - เพิ่มส่งออก

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ หัวหน้าทีมนโยบายการเมืองและเครือข่าย พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่าเอสเอ็มอีของประเทศไทยกำลังเดินสู่รอยต่อที่สำคัญที่จะต้องได้รับการสนับสนุนต่อเนื่องโดย ต้องแปรบทบาทของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) โดยไม่ต้องทำบทบาทซ้ำซ้อนเหมือนเดิม แต่ต้องทำในเรื่องของแผนแม่บท และการจัดสรรงบประมาณทั้งหมด ทำนโยบาย และดูปัญหาสำคัญๆ เพื่อให้หน่วยงานปฏิบัติทำงานไปในทิศทางเดียวกันเพื่อแก้ไขปัญหาของเอสเอ็มอีจริงๆ นอกจากนี้ต้องมีหน่วยงานใหม่เพื่อประเมินผลความสำเร็จของนโยบาย และการใช้งบประมาณ ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับปรุงปฏิรูประบบตรวจสอบงบประมาณทั้งหมดด้วย

“ในเรื่องการปรับเปลี่ยนไปสู่เทคโนโลยีคือเรื่องสำคัญของเอสเอ็มอีซึ่งต้องปรับในเรื่องของ Mind Set เพื่อให้เอสเอ็มอีไทยปรับตัวได้ ซึ่งส่วนนี้จะเป็นเรื่องการปรับบทบาทที่สำคัญของ สสว.โดยทำหน้าที่เป็นโค้ชชิ่งในการฝึกฝนให้เอสเอ็มอีมีความเชี่ยวชาญเรื่องดิจิทัลมากขึ้น รวมทั้งเรื่องของการทำงานในรูปแบบไฮบริดมากขึ้น

สำหรับการการแก้หนี้สินของเอสเอ็มอีนายสนธิรัตน์กล่าวว่าต้องใช้ระบบกองทุนเข้ามาแก้ไข และกองทุนต้องมาช่วยให้เกิดการแก้หนี้สินให้กับเอสเอ็มอี พร้อมกับการเติมทุน เช่นเดียวกับการให้ระบบการเติมทุนให้กับเอสเอ็มอีเหมือนระบบของอาลีบาบา ในประเทศจีน และมีเรื่องของเครดิตสกอร์ริ่งเพื่อพิจารณาการเติมทุน โดยต้องมีเรื่องของที่ปรึกษาให้กับเอสเอ็มอีมาช่วยประคับประครองผู้ประกอบการด้วย

7 พรรคประชัน ‘นโยบาย SME’  ตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่อง- ลดต้นทุน - เพิ่มส่งออก

นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่าโครงสร้างของเอสเอ็มอีไทยส่วนใหญ่เป็นรายย่อยและรายเล็กที่มี่อยู่กว่า 98% ของเอสเอ็มอีทั้งหมด โดยประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการยกระดับเอสเอ็มอีรายเล็กๆให้เข้าสู่การเป็นรายกลางและรายใหญ่ โดยปัญหาของเอสเอ็มอีไทยจะเกี่ยวข้องกับต้นทุนค่าแรงขั้นต่ำค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ ปัญหาของเอสเอ็มอีจะต้องได้รับการแก้ไข เพราะหากเอสเอ็มอีแก้ปัญหาไม่ได้โดยเฉพาะเรื่องเงินทุน และจะไปพึ่งพาเงินนอกระบบมาก พรรคจึงผลักดันนโยบาย “โอกาสนิยม” สร้างโอกาส ติดอาวุธ และให้แต้มต่อ โดยโอกาสในการจะช่วยให้เข้าถึงเงินทุน โดยการแก้ปัญหาเรื่องดอกเบี้ยแพง ซึ่งต้องใช้ระบบเครดิตสกอร์ แทนระบบแบล็กลิสต์และเครดิตบูโร ซึ่งจะทำให้แบล็กลิสต์ลดลงถึง 3 ล้านคน จาก 6 ล้านคน

นอกจากนี้ยังมีนโยบาย SMEs ดีพอ ซึ่งจะสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าไทย พอใจ ช่วยให้เอสเอ็มอี ขายสินค้าได้มากขึ้น โดยรวมถึงการทำสินค้าออนไลน์ เพื่อขายสินค้าทั่วประเทศและทั่วโลก ซึ่งภาครัฐต้องมีแผนการลงทุน และทำE-Business โดยนโยบายเศรษฐกิจของพรรคชาติพัฒนากล้า คือเรื่องนโยบายสร้างรายได้ให้ประเทศ 5 ล้านล้านบาท และจะใช้เอสเอ็มอีในการขับเคลื่อนทุกนโยบาย

7 พรรคประชัน ‘นโยบาย SME’  ตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่อง- ลดต้นทุน - เพิ่มส่งออก

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทยกล่าวว่าพรรคมีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนจีดีพีเอสเอ็มอีจาก 30% เป็น 50% ภายในระยะเวลา 4 ปี โดยนโยบายของเอสเอ็มอีที่ดีนั้นต้องมีแต้มต่อ เพื่อจะแก้ปัญหาแรกได้แก่ การแก้หนี้สิน เนื่องจากปัจจุบันปัจจุบันไทยมีปัญหาเรื่องหนี้สูงมากทั้งหนี้ครัวเรือน และหนี้สาธารณะที่สูงมากในประวัติศาสตร์

“การแก้หนี้ เติมทุน ต้องให้คนกู้ยืมหนี้ที่ไม่มากนักโดยไม่ต้องค้ำประกัน ควบคู่กับการปลดล็อกกฎหมาย 1,400 ฉบับที่เป็นกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจ โดยออก พ.ร.ก. 1 ฉบับเพื่อเว้นใช้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจ และลดอำนาจที่ให้บางหน่วยงานมากเกินไป โดยเอสเอ็มอีอาจทำธุรกิจยากมากขึ้นเพราะกฎหมายเหล่านี้ รวมทั้งอาจลดบทบาทของอ.ย.ที่ทำให้ธุรกิจเกิดยากและมีต้นทุนที่สูงขึ้น นอกจากนี้แต้มต่อของเอสเอ็มอีที่ต้องให้กับเอสเอ็มอี คือยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับเอสเอ็มอี 3 ปี และเปิดพื้นที่การลงทุนให้กับเอสเอ็มอีเพิ่มเติม โดยสนับสนุนนิคมสำหรับเอสเอ็มอี ทำกองทุนนวัตกรรม และแพลตฟอร์มสำหรับเอสเอ็มอีด้วย โดยกองทุนนวัตกรรมจะลงทุนเพื่อพัฒนา Know how ของแต่ละภาคส่วน เพื่อช่วยให้ทำ R&D ให้กับเอสเอ็มอี ” นายสุพันธุ์ กล่าว

7 พรรคประชัน ‘นโยบาย SME’  ตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่อง- ลดต้นทุน - เพิ่มส่งออก

ด้านนายสันติ กีระนันท์ กรรมการนโยบายยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ปัญหาของเอสเอ็มอีมีปัญหาที่หลากหลาย พบว่าในส่วนของไมโครเอสเอ็มอีประมาณ 2.6 ล้านราย โดยในกลุ่มนี้มีปัญหาอยู่มาก ซึ่งความร่วมมือที่แก้ปัญหาของเอสเอ็มอี โดยต้องสร้างความร่วมมือในทุกหน่วยงานที่ต้องแก้ไขปัญหา และสร้างโอกาสให้กับเอสเอ็มอี หากภาครัฐสามารถให้เงินช่วยเหลือตั้งกองทุนในลักษณะของ Venture Capital (VC) ที่มารองรับการลงทุนของเอสเอ็มอีผ่านทางกลไกตลาดทุนและมาตรการทางภาษีได้

นอกจากนั้นต้องปรับเปลี่ยนให้ธนาคารและสถาบันการเงินของรัฐหรือ แบงก์รัฐ ที่ดูแลและมีหน้าที่สนับสนุนเอสเอ็มอี ต้องกลับมาอยู่ในกำกับการกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ไม่ใช่ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแล เพราะ ธปท.จะกำกับดูแลแบบธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนเอสเอ็มอีได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะเป็นกรอบการขับเคลื่อนแนวทางของเอสเอ็มอีที่จะพัฒนาไปข้างหน้าได้

7 พรรคประชัน ‘นโยบาย SME’  ตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่อง- ลดต้นทุน - เพิ่มส่งออก

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีดสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกลกล่าวว่า ณ วันนี้ตัวเลขเอสเอ็มอีไทยใน 3 ไตรมาสของปี 65 เติบโตขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 แต่ไม่ได้ฟื้นไปเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 โดยวิกฤติของเอสเอ็มอีไทยคือเรื่องการแก้ปัญหาของการเงิน ทั้งแหล่งทุนและหนี้ ดังนั้นพรรคก้าวไกลจึงเสนอนโยบาย แต้มต่อหนุน เงินทุนมี และภาษีช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยมาตรการแต้มต่อหนุน เช่น ให้ประชาชนซื้อสินค้าจากเอสเอ็มอีมากขึ้นโดยมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ 5000 บาทขึ้นไปสามารถลดหย่อนภาษีได้

ส่วนเรื่องเงินทุนจะเสนอให้มีการให้ทุนตั้งตัวกับเอสเอ็มอีรายละ 1 แสนบาท และเติมเงินให้กับ บสย.เพื่อค้ำประกันเงินกู้เพิ่ม และเพิ่มการค้ำประกันเงินทุนของบสย.เพิ่มปีละ 2 หมื่นล้านบาทโดยให้การกำหนดสัดส่วนการปล่อยกู้ที่ชัดเจน ส่วนเรื่องภาษีจะลดภาษีนิติบุคคลเอสเอ็มอีเหลือ 0 -15 % ซึ่งน้อยกว่าภาษีนิติบุคคลในปัจจุบัน

นอกจากนี้พรรคยังเสนอให้เดินหน้าในเรื่องของการคัดค้านการควบรวมของธุรกิจรายใหญ่ต่อไปเพื่อให้เอสเอ็มอีมีโอกาสในการทำธุรกิจมากขึ้น เช่นเดียวกันกับการเดินหน้าลดต้นทุน ซึ่งต้องรื้อระบบค่าไฟของประเทศลงไม่เช่นนั้นต้นทุนที่สูงขนาดนี้เอสเอ็มอีและภาคธุรกิจของประเทศไม่สามารถที่จะแข่งขันได้ทั้งกับทุนใหญ่และกับประเทศเพื่อนบ้าน