ธรรมาภิบาลกับตลาดทุนไทย | บัณฑิต นิจถาวร

ธรรมาภิบาลกับตลาดทุนไทย | บัณฑิต นิจถาวร

เศรษฐกิจโลกที่ดูดีขึ้นและวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น เป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงต่อตลาดทุนประเทศตลาดเกิดใหม่และตลาดทุนไทยก็เช่นกัน

เป็นโอกาส เพราะการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศเพื่อหาผลตอบแทนในประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัว ตลาดทุนมีการบริหารจัดการที่ดี และประเทศมีบริษัทธุรกิจที่มีคุณภาพมีศักยภาพ เป็นที่ไว้วางใจของนักลงทุน

แต่เป็นความเสี่ยงเพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น หมายถึงปัญหาในการระดมทุนของภาคธุรกิจ ความเสี่ยงที่จะเกิดการขาดสภาพคล่องในตลาดทุนและการผิดนัดชำระหนี้ของธุรกิจที่มีหนี้มาก นำไปสู่การขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ทั้งหมดคือความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ ทําให้ตลาดทุนต้องมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว

ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยตลาดทุนไทยลดความเสี่ยงนี้คือ การบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล หมายถึง ผู้เล่นในตลาดทุน ไม่ว่าจะเป็น บริษัทจดทะเบียน นักลงทุน บริษัทตัวกลาง ตลาดหลักทรัพย์ ตลาดพันธบัตร และหน่วยงานกำกับดูแล

ทั้งหมดทําหน้าที่โดยปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบต่างๆ อย่างเคร่งครัด มีการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพและทันเหตุการณ์

เพื่อรักษาไว้ซึ่งความไว้วางใจหรือ Trust ต่อตลาดทุนและลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันของทุกฝ่ายที่ต้องทําให้เกิดขึ้น นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

เศรษฐกิจโลกขณะนี้ดูดีกว่าเมื่อเดือนก่อน จากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐที่ทําอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้ดีปีนี้จากการเปิดประเทศและความเสี่ยงโควิดที่ลดลง

ล่าสุด ไอเอ็มเอฟได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้และปีหน้าขึ้น ให้ขยายตัวร้อยละ 2.9 และ 3.4 แม้ความไม่แน่นอนยังมีอยู่มาก

สำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่ ไอเอ็มเอฟประเมินว่าภูมิภาคเอเชียจะขยายตัวได้ดี ชี้ถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของภูมิภาคที่จะดึงดูดให้เงินทุนต่างประเทศไหลเข้าเพื่อหาประโยชน์ เป็นโอกาสของเศรษฐกิจและตลาดทุน

อย่างไรก็ตาม การไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศรอบนี้จะอยู่ในบริบทที่เศรษฐกิจโลกมีการแบ่งแยกมากขึ้น ความเสี่ยงภูมิศาสตร์การเมืองมีสูง อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าเดิม และต้นทุนการเงินแพงขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น สิ่งเหล่านี้ทําให้การลงทุนมีความเสี่ยงมากกว่าแต่ก่อน

สำหรับการลงทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่ นักลงทุนจะยิ่งต้องระวัง เพราะสิ่งที่นักลงทุนต้องการในการลงทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่คือโอกาสทางธุรกิจที่จะสามารถสร้างรายได้ต่อเนื่องได้อย่างน้อย 10 ปี

ดังนั้นในการเลือกตลาดเกิดใหม่ที่จะลงทุน นักลงทุนจะให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องที่ถือเป็นความเสี่ยงต่อการลงทุนระยะยาว

หนึ่ง เสถียรภาพเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ สอง ความเข็มแข็งของฐานะทางการเงินของประเทศ เช่น ทุนสํารองทางการ และสาม มาตรฐานธรรมาภิบาลที่ตลาดทุนของประเทศมี เพราะมาตรฐานธรรมาภิบาลที่ตํ่าคือความเสี่ยงต่อการลงทุน

นี่คือสามประเด็นที่นักลงทุนมองหา เป็นสามประเด็นที่ตัดสินความน่าลงทุนของประเทศเทียบกับตลาดทุนอื่นๆ

ดังนั้น ถ้าประเทศเราสอบไม่ผ่านสามประเด็นนี้ ภาคธุรกิจก็จะไม่ได้ประโยชน์จากการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศสู่ภูมิภาค นี่คือความสำคัญของธรรมาภิบาลในตลาดทุน

แล้วนักลงทุนมองหาอะไรในการบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาลในตลาดทุน

ธรรมาภิบาลเป็นเรื่องที่ตลาดทุนไทยให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่ความเปราะบางส่วนหนึ่งมาจากการขาดธรรมาภิบาลที่นำไปสู่การก่อหนี้ต่างประเทศที่สูงและการใช้ประโยชน์ของเงินกู้ที่ขาดประสิทธิภาพ

หลังจากนั้น เมื่อมีการปฏิรูปใหญ่ ธรรมาภิบาลในตลาดทุนก็ปรับตัวดีขึ้น วัดจากคะแนนการกํากับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียน ที่อยู่เป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค

แต่ธรรมาภิบาลในตลาดทุนที่นักลงทุนให้ความสำคัญไม่ได้จํากัดอยู่แค่บริษัทจดทะเบียน แต่รวมถึงการทําหน้าที่ของตลาด นักลงทุน บริษัทต้วกลาง และองค์กรกำกับดูแล เช่น ก.ล.ต. นี่คือทุกส่วนของตลาดทุนที่ต้องมีการทําหน้าที่อย่างมีธรรมาภิบาล

ในเรื่องนี้ ผมอยากให้ความเห็นเพิ่มเติมสามประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระแสการลงทุนโลกในปัจจุบันและตลาดทุนไทย

1. ปฏิเสธไม่ได้ว่าการลงทุนในโลกขณะนี้ให้ความสำคัญมากกับกระแส ESG คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล 

ทําให้บริษัทที่จะได้รับการสนับสนุนเรื่องเงินทุนจะต้องเป็นบริษัทที่นําสามเรื่องนี้มาฝังอยู่ในโมเดลการทำธุรกิจเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ตั้งแต่เอสเอ็มอีไปถึงบริษัทจดทะเบียน

นักลงทุนมอง ESG ว่าเป็นปัจจัยที่สร้างความแตกต่างในเรื่องผลตอบแทนและการบริหารความเสี่ยง ดังนั้น บริษัทต้องมีธรรมาภิบาลในการทําธุรกิจ มีส่วนร่วมที่จะลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะภาวะโลกร้อน นี่คือประเด็นที่ภาคเอกชนไทยทุกระดับต้องปรับตัว

2. ธรรมาภิบาลของนักลงทุน และการทำหน้าที่ของบริษัทในตลาดทุนอย่างมีธรรมาภิบาล เป็นเรื่องที่สําคัญมากในสายตานักลงทุนเพราะมักเป็นที่มาของความเสี่ยงและเรื่องที่ไม่ดีหรือ scandal ต่างๆในตลาดทุน

คือการมุ่งแต่จะหากําไรให้นักลงทุนและลูกค้าจนไม่พร้อมที่จะทําในสิ่งที่ถูกต้อง การละเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายเป็นความบกพร่องร้ายแรงในตลาดทุน เพราะสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบในการลงทุนที่ไม่สุจริตและส่งผลเสียหายต่อชื่อเสียงของตลาดทุนของประเทศ

และจากหลายเรื่องที่เกิดขึ้นอาจถึงเวลาที่เราควรพิจารณาทํา Governance rating ของบริษัทในตลาดทุนเพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องนี้

3. ตลาดและองค์กรกำกับดูแลต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังในเรื่องธรรมาภิบาลและพร้อมเป็นตัวอย่างที่ดีในการมีธรรมาภิบาลในการทําหน้าที่

ซึ่งจุดที่สำคัญที่สุดในสายตานักลงทุนไม่ใช่การพัฒนาตลาดแต่คือ (1) การมีระบบสอดส่องดูแลการทําธุรกรรมในตลาดทุนหรือ Market Surveillance ที่มีประสิทธิภาพที่จะช่วยจับความไม่ปรกติต่างๆ ได้อย่างต้นมือเพื่อการตรวจสอบของทางการ

(2) การดําเนินการเอาผิดผู้ที่ทําผิดกฎหมายอย่างทันเหตุการณ์ ไม่ล่าช้า และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

(3) ภาวะผู้นำของผู้บริหารที่ต้องมีความรู้ มีความเป็นมืออาชีพ มีอิสระในการตัดสินใจ และสามารถสื่อสารได้ดีกับผู้ร่วมตลาดเพื่อสร้าง trust หรือความไว้วางใจ

นี่คือสิ่งที่สร้างความแตกต่างระหว่างตลาดทุนระดับประเทศกับตลาดทุนระดับโลก

ธรรมาภิบาลกับตลาดทุนไทย | บัณฑิต นิจถาวร

ทัศนะ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร. บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]