ความเสี่ยงสามด้านของเงินคริปโทฯ สำคัญสุดคือ “ธรรมาภิบาล”

ความเสี่ยงสามด้านของเงินคริปโทฯ  สำคัญสุดคือ  “ธรรมาภิบาล”

เงินคริปโทเคอร์เรนซีเกิดขึ้นมา เพราะเป็นความหวังของคนกลุ่มหนึ่งที่อยากเห็นสกุลเงินดิจิทัล ที่สามารถใช้จ่ายแลกเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องใช้เงินสด จะสะดวก รวดเร็วขึ้น และมีความอิสระ ควบคุมกันเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาสกุลเงินที่กำหนดโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ

เงินคริปโทฯ มักมีเรื่องที่น่าตื่นเต้นออกมาปลุกกระแสตลอดเวลา มีการออกเงินสกุลต่างๆ มากมาย รวมถึงบริษัทใหญ่อย่าง เฟซบุ๊ก เคยระบุว่าจะใช้เงินสกุล Libra ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า (แต่สุดท้ายก็ต้องยกเลิกโครงการ)

แม้แต่ Tesla ที่เคยบอกว่ายินดีจะรับเงินคริปโทฯ ในการซื้อรถยนต์ ตลอดจนมีบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งที่จ่ายเงินเดือนพนักงานเป็นเงินคริปโทฯ ประกอบกับการออกมาโหมโฆษณาของบริษัทแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโทฯ ที่พยายามชี้ให้เห็นว่าเงินคริปโทฯ คือ อนาคต จึงทำให้ผู้คนเกิดความสนใจกันอย่างมาก และมูลค่าเงินเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงปลายปีที่แล้วมีมูลค่าโดยรวมถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์

 

แต่สุดท้ายเราก็ได้เห็นเส้นทางของเงินคริปโทฯ ช่วงนี้ ไม่ได้สวยงามเช่นปีที่ผ่านมา มูลค่าโดยรวมลดลงเหลือเพียง 8 แสนกว่าล้านดอลลาร์ เงินคริปโทฯ ที่เราคิดว่าจะนำมาใช้จ่ายแลกเปลี่ยนแทนเงินสกุลหลักแบบเดิมก็อ่อนไหวอย่างมาก

แม้แต่เงินสกุลประเภท Stable coin ที่ควรมีความเสถียร บางสกุลกลับกลายเป็นว่าอ่อนไหวจนแทบไม่เหลือมูลค่าใดๆ การลงทุนซื้อขายคริปโทฯ ก็มีความเสี่ยงทำให้บางคนสูญเสียเงินจำนวนมากจากความเชื่อว่า นี่คือการลงทุนสู่อนาคต

ปีนี้เงินคริปโทฯ พบกับเหตุการณ์ที่กระทบต่อความน่าเชื่อถือครั้งแรกคือ วิกฤติที่เกิดกับแพลตฟอร์ม Terra ที่กระทบต่อสกุลเงินคริปโทฯ LUNA และ USTC เป็น Stable coin ทำให้เหรียญทั้งสองมีมูลค่าสูญหายเกือบหมด

ส่วนครั้งที่สอง เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา บริษัท FTX ที่เป็นศูนย์แลกเปลี่ยน คริปโทฯ ใหญ่อันดับสองของโลกล้มละลาย ทำให้ลูกค้าจำนวนมากต้องสูญเสียเงิน

บางคนอาจสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นกับเงินสกุลคริปโทฯ ทั้งที่มีเทคโนโลยีที่ดีอย่างบล็อกเชนเป็นกลไกทำงาน และมีหลักการที่ดีในการกระจายอำนาจควบคุมสกุลเงิน คำตอบสั้นๆ ที่ได้ก็คือคำว่า “ธรรมาภิบาล” (Governance)

เทคโนโลยีจะดีแค่ไหนยังถูกสร้างด้วยมนุษย์ ย่อมมีช่องโหว่ใช้งาน และควบคุม ยิ่งถ้าคนที่นำมาใช้งานหรือผู้ควบคุมระบบขาดจริยธรรม และคุณธรรมก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการทุจริต จึงไม่แปลกใจว่าปัจจุบันเงินคริปโทฯ ต่างๆ ยังไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในตอนก่อกำเนิดที่ต้องการให้ใช้เป็นสกุลเงินแทนสกุลเงินสากลต่างๆ ในปัจจุบันได้

และส่วนใหญ่ยังเป็นสกุลเงินที่ใช้ลงทุน เพื่อเก็งกำไรมากกว่า และเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมากในหลายเรื่อง ที่อาจทำให้ผู้ที่ลงทุนหรือแม้แต่จะถือเงินคริปโทฯ ต้องสูญเสียเงินไป ดังนี้

1.ความเสี่ยงจากการผันผวนของค่าเงิน เนื่องจากเงินคริปโทฯ ไม่ได้มีสินทรัพย์ค้ำประกัน มูลค่าเงินก็อ่อนไหวตามความต้องการตลาด ทำให้ราคาที่ขึ้นลงอย่างรวดเร็ว ความเป็นจริงไม่มีใครสามารถใช้เงินเหล่านี้ เพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการได้ แม้แต่เงินคริปโทฯ ที่เป็น Stable coin ที่เคยมั่นใจว่ามีความเสถียรก็ต้องพิจารณาให้ดีว่า ใช้หลักการใดในการทำให้เงินมีค่าคงที่เท่ากับเงินดอลลาร์ เพราะบางครั้งผู้ออกเหรียญก็อาจไม่ได้มีจำนวนสินทรัพย์จริง ที่นำมาค้ำมูลค่าของเหรียญทั้งหมด หรือกรณี USTC ที่ล่มสลายเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้ว่าการใช้อัลกอริทึมในการตึงค่าเงินไม่สามารถทำได้ตามที่คาดหวัง

2.ความเสี่ยงต่อการถูกแฮก การลงทุนในเงินคริปโทฯ แตกต่างกับการลงทุนในหุ้น ที่มีศูนย์ฝากหลักทรัพย์เก็บรักษาหุ้นให้ แต่ถ้าเราเอาเงินไปลงในบริษัทศูนย์แลกเปลี่ยนคริปโทฯ ที่เป็นตัวกลาง ทางบริษัทอาจทำหน้าที่เป็นผู้เก็บรักษาเงิน คริปโทฯ เหล่านั้นได้ เว้นเสียแต่ว่าเราจะเลือกเก็บในกระเป๋าเงินดิจิทัลของเราเอง ซึ่งบางคนพบว่า เก็บรักษายากกว่าการเก็บเงินสด และบางครั้งก็อาจเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรม หรือหลงลืมพาสเวิร์ด

3. ความเสี่ยงด้านธรรมาภิบาล เราคงเห็นหลายกรณีจากบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับเงินคริปโทฯ ล้มหายตายจากไป เนื่องจากการฉ้อโกงของผู้บริหารบริษัทตนเอง ตัวอย่างเช่น ศูนย์แลกเงิน QuadrigaCX ในประเทศแคนาดาที่ถูกทำเป็นหนังเรื่อง Trust no One ซึ่งต้องปิดตัวไปเพราะเจ้าของได้เสียชีวิตอย่างกะทันหันในอินเดีย และเงินคริปโทฯ ที่เก็บไว้มูลค่ากว่า 250 ล้านดอลลาร์ ก็ได้สูญหายไป

แม้แต่กรณีบริษัท FTX ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นปัญหาเรื่องของธรรมาภิบาล ซึ่งผู้ก่อตั้งบริษัท Sam Bankman-Fired มีบริษัทลูกที่เป็นบริษัทด้านการลงทุนในชื่อ Alameda Research ซึ่งถือหุ้นส่วนใหญ่โดยเจ้าของเดียวกัน และมีการนำเงินลงทุนของลูกค้ากว่า 80% ไปซื้อเหรียญ FTT ที่ออกโดยบริษัท FTX เอง โดยไม่ได้บอกความจริงกับลูกค้า ทำให้มูลค่าของเหรียญ FTT เสมือนถูกกำหนดขึ้นมาเองจากการสร้างความต้องการเทียม นอกจากนี้ก็ยังมีการโยกเงินจำนวนมากออกมาจากศูนย์แลกเปลี่ยนเงิน FTX เพื่อมาลงในบริษัท Alameda Research ซึ่งเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน

จะเห็นได้ว่า เงินคริปโทฯ มีความเสี่ยงสูงมากในการลงทุน แต่ผมก็ยังคิดว่าเงินคริปโทฯ ยังมีอนาคตที่ดี โดยเฉพาะเงินบางสกุล และข้อสำคัญยิ่งเทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นเรื่องที่ดี และสามารถสร้างนวัตกรรมได้มากมาย แต่สุดท้ายแล้วเราจำเป็นอย่างยิ่งต้องกำกับดูแลเงินคริปโทฯ และเทคโนโลยีเรานี้ให้ดี

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์