‘กระต่าย’ สัตว์เศรษฐกิจทำรายได้ดี ส่งขายต่างประเทศ

“กระต่าย” สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ ส่งขายต่างประเทศ เป็นเมนูสุขภาพ รักษาไขข้อผู้สูงวัย เนื้อกระต่ายมีไขมันต่ำ สร้างรายได้งาม เฉลี่ยประมาณเดือนละ 6,000-7,000 บาท

ที่ศูนย์เครือข่ายเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ด้านปศุสัตว์ ในพื้นที่บ้านไร่พรุ หมู่ที่ 8 ต.น้ำผุด อ.เมือง จ.ตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่ทำเกษตรของนายนาวี จันทร์กระจ่าง อายุ 51 ปี ใช้พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน เลี้ยงกระต่ายขายเนื้อ และสวยงาม เน้นอินทรีย์ปลอดสารพิษ โดยกระต่ายที่เลี้ยงไว้เป็นสายพันธุ์นิวซีแลนด์ไวท์ และสายพันธุ์ไจแอนท์ มีแม่พันธุ์ทั้งหมด 10 ตัว กระต่ายจะออกลูก ครั้งละ 7-8 ตัวต่อคลอก อาหารกระต่ายเป็นอาหารวัวนม ต่างประเทศ นิยมซื้อสายพันธุ์เนื้อไปทำเป็นเมนูต่างๆ เช่น ประเทศมาเลเซีย ทำแกงมัสมั่น ประเทศอินโดนีเซียทำข้าวหมกและทอด และในประเทศไทยที่จังหวัดปัตตานี นำไปทำข้าวหมก
      นายนาวี จันทร์กระจ่าง บอกว่า เลี้ยงกระต่ายมาได้ประมาณ 6-7 เดือน เกิดจากความชอบในการเลี้ยงกระต่ายสวยงาม และพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นเลี้ยงสายพันธุ์เนื้อ ก็ได้รับผลตอบรับดีมีทั้งตลาดสัตว์เลี้ยงและตลาดสายพันธุ์เนื้อ รายได้ต่อเดือนเฉลี่ยประมาณเดือนละ 6,000-7,000 บาท เพราะยังผลิตได้ไม่มาก แต่ความต้องการมีสูง หากเป็นสัตว์เลี้ยงจะขายทั้งพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ รุ่นอายุประมาณ 1 เดือน ตัวผู้ตัวจะขายตัวละ 500 บาท ตัวเมียตัวละ 1,000 บาท แต่หากเป็นตลาดสายพันธุ์เนื้อจะส่งไปที่จังหวัดปัตตานี และส่งให้ลูกทีม ขายเนื้อกิโลกรัมละ 120 บาท น้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 1.8-2 กิโลกรัม ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

     ส่วนใหญ่นิยมนำไปบริโภคเป็นเมนูอาหาร เช่น ทำข้าวหมก มัสมั่น และทอด เนื้อกระต่ายไขมันต่ำ เนื้ออร่อย นิ่ม นำขึ้นภัตตาคาร เป็นอาหารสุขภาพด้วย ถือว่าตอนนี้ตลาดเปิดกว้างขึ้นเยอะเพราะสายพันธุ์นี้จะเป็นสายพันธุ์บริโภค และก็มีสายพันธุ์สวยงาม สามารถขายควบคู่กันได้ การเลี้ยงกระต่ายปัญหาไม่ค่อยมี เพราะการจัดการเรื่องฟาร์มต้องสะอาด พ่อแม่พันธุ์ต้องนิ่ง อาหารสำคัญ และการจัดเก็บที่ดี สำหรับในจังหวัดตรัง มีผู้เลี้ยงกระต่ายจำนวน 2 ราย กำลังเริ่มสร้างเครือข่าย นอกจากนี้ยังมีปลูกพืชผักสวนครัว แก้วมังกร ฝรั่ง กะหล่ำปลีสวนทุเรียนข้างบ้าน ทำสวนผสมด้วย 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์