กรมประมง รุก ตั้ง “ธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม” ทั่วประเทศ

กรมประมง รุก ตั้ง “ธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม” ทั่วประเทศ

กรมประมง Kick off โครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม ต่อยอดความสำเร็จเพิ่มอีก 20 แหล่งน้ำในปี 2566หวังให้ชุมชน ในพื้นที่สามารถบริหารจัดการแหล่งน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นแหล่งผลิตอาหารที่เป็นสัตว์น้ำที่เพียงพอ ต่อการบริโภค และสร้างรายได้ให้กับชุมชน

นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการเปิดโครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม “แหล่งน้ำหนองบุ่งเก้ง” จังหวัดยโสธร ว่า ที่ผ่านมากรมประมงมีการขับเคลื่อน การดำเนินงาน “โครงการธนาคาร ผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม” อย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลากว่า 7 ปี ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน และการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาศักยภาพของชุมชนในการบริหารจัดการแหล่งน้ำให้เป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำของชุมชน เพื่อใช้แหล่งน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด มุ่งเน้นให้สร้างความเข้มแข็งของชุมชน แลกเปลี่ยนเรียนรู้สามารถบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนเพื่อการประมง ให้มีการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำได้เต็มศักยภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน

 

กรมประมง รุก ตั้ง “ธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม” ทั่วประเทศ กรมประมง รุก ตั้ง “ธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม” ทั่วประเทศ กรมประมง รุก ตั้ง “ธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม” ทั่วประเทศ

ซึ่งที่ผ่านมาโครงการฯ ได้รับการตอบรับที่ดี มีแหล่งน้ำในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 140 แหล่งน้ำ โดยในปี 2566 กรมประมงได้จัดตั้งธนาคารสัตว์น้ำในแหล่งน้ำใหม่อีกจำนวน 20 แห่ง ทั่วประเทศ พร้อมมอบเงินอุดหนุน 80,000 - 90,000 บาทต่อแหล่งน้ำ ทั้งนี้จากผลการดำเนินงานในปี 2565 ที่ผ่านมา ชุมชนได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแหล่งน้ำแล้วกว่า  2,231 คน และจดขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น มีสมาชิกกว่า 9,919 คน และร่วมลงหุ้นในโครงการเป็นเงินกว่า 2.3 ล้านบาท มีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำแล้วกว่า 26 ล้านตัว ชุมชนร่วมจับสัตว์น้ำที่ปล่อยขึ้นมาใช้ประโยชน์แล้วกว่า 447 ตัน ชุมชนมีรายได้เข้ากองทุนโครงการแล้วกว่า 15.5 ล้านบาท ปันผลคืนให้แก่สมาชิกแล้วกว่า 1.4 ล้านบาท และชุมชนได้จัดสรรรายได้ที่เกิดขึ้นเพื่อใช้ในการบริหารแหล่งน้ำต่อไป

 “แหล่งน้ำหนองบุ่งเก้ง” ตั้งอยู่ที่บ้านโคกก่อง หมู่ที่ 9 ตำบลบุ่งค้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร เป็นแหล่งน้ำที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ ในปีงบประมาณ 2566 มีพื้นที่ขนาด 12 ไร่ เดิมทีแหล่งน้ำแห่งนี้มีการใช้ประโยชน์
เพื่อการเกษตรเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีการบริหารจัดการแหล่งน้ำเพื่อการประมงให้มีการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่


กรมประมง โดยสำนักงานประมงจังหวัดยโสธร ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดยโสธร ได้ลงพื้นที่ส่งเสริมให้ชุมชนมีการบริหารจัดการแหล่งน้ำแห่งนี้ ภายใต้ “โครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม”
ในการใช้แหล่งน้ำเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการให้เป็นแหล่งธนาคารสัตว์น้ำของชุมชน อีกทั้งได้ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการประมง ใช้เงินอุดหนุนจำนวน 80,000 บาท ที่ทางกรมประมงจัดสรรให้ชุมชน ร่วมกันปรับปรุงแหล่งน้ำ ให้มีความพร้อมในการเลี้ยงสัตว์น้ำ สร้างอาหารธรรมชาติ อนุบาลและเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งนี้ได้มีการจับสัตว์น้ำเก่าออก และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เช่น ปลานิล,ปลาตะเพียน และอื่นๆ เพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำของชุมชนเพียงพอ                        ต่อการบริโภค สามารถสร้างรายได้และลดรายจ่ายในครัวเรือน อีกทั้งเพิ่มศักยภาพของชุมชนในด้านการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนเพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำจืด ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็ง         ของกลุ่มเกษตรกร ให้สามารถบริหารจัดการกองทุนโครงการฯ และปันผลรายได้ที่เกิดขึ้นจากผลผลิตสัตว์ในแหล่งน้ำชุมชน ที่ช่วยกันดูแลจนเกิดเป็นเงินทุนหมุนเวียนในชุมชน ชุมชนมีผลผลิตสัตว์น้ำและสามารถต่อยอดไป สู่ผลผลิตการเกษตรอื่นๆ เพื่อสร้างแหล่งอาหาร สร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนในชุมชนได้

โดยที่ผ่านมากรมประมงได้มุ่งผลักดันโครงการดังกล่าวจนประสบความสำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรม ส่งผล         ให้กรมประมงได้รับรางวัลเลิศรัฐ 5 ปีติดต่อกันถึง 7 รางวัล ในสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นรางวัล แห่งเกียรติยศที่มอบให้หน่วยงานที่ได้มุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนประสบความสำเร็จมีความเป็นเลิศ ที่ทํางานร่วมกับประชาชนในระดับหุ้นส่วนความร่วมมือ ได้แก่

โครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำฯ บ้านซับสมบูรณ์ จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 2 รางวัล ธนาคารผลผลิตเกษตรด้านการประมงหนองคูจังหวัดนครราชสีมา ธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำหนองก่าน - สุขสำราญ จังหวัดหนองบัวลำภู และ ธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำฯ หนองอีเริง จังหวัดชัยภูมิ ธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำบึงหนองบัว จังหวัดลำปาง ธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำหนองพัง จังหวัดนครพนม และธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำห้วยถ้ำมด จังหวัดมุกดาหาร

"จากความร่วมมือบูรณาการทำงานของทุกภาคส่วนและการมีส่วนร่วมของชุมชน ทำให้โครงการฯนี้ ประสบผลสำเร็จ ซึ่งนอกจากชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถบริหารแหล่งน้ำให้เป็นแหล่งผลิตอาหารและเกิดการสร้างรายได้ในชุมชนแล้ว ยังเกิดแหล่งเรียนรู้ด้านการประมง ชุมชนประมงต้นแบบ มีความรู้ความสามารถด้านการพัฒนาอาชีพประมงนำไปต่อยอดขยายผลดำเนินการในแหล่งน้ำอื่นทั่วประเทศ และต่อยอดการประกอบเป็นอาชีพได้ ทำให้เกิดความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้นำไปสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรอยู่ดีกินดี       สร้างรากฐานความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป"