พาณิชย์ห่วงบาทแข็งกระทบส่งออกสินค้ามูลค่าสูง

พาณิชย์ห่วงบาทแข็งกระทบส่งออกสินค้ามูลค่าสูง

สนค.เผย บาทแข็งกระทบสินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าส่งออกสูง แต่นำเข้าวัตถุดิบน้อย ทั้ง ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เสี่ยงรายได้หด แนะผู้ส่งออกประกันความเสี่ยงค่าเงิน ส่วนขึ้นดอกเบี้ย ทำต้นทุนการเงินพุ่ง กระทบความสามารถแข่งขัน

นายพูนพงษ์   นัยนาภากรณ์  ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็วในขณะนี้มาอยู่ที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์ จากเดือนธ.ค.65 ที่ 35-36 บาทต่อดอลลาร์ แม้ค่าเงินบาทแข็งค่า ไม่กระทบต่อการส่งออกเท่ากับภาวะเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าชะลอตัว แต่ยอมรับว่า เงินบาทแข็งค่าส่งผลต่อความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทย ที่จะแพงขึ้น  ทำให้ความต้องการสินค้าไทยลดลง อีกทั้งยังส่งผลให้มูลค่าการส่งออกเมื่อคิดเป็นเงินบาทลดลง ทำให้รายได้หรือกำไรของผู้ประกอบการลดลงด้วย  

 สำหรับอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า ส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกสูง แต่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบน้อย โดยจะทำให้รายได้หรือกำไรของผู้ประกอบการลดลง เพราะแทบไม่ได้ประโยชน์จากการนำเข้าที่มีต้นทุนต่ำลงเลย เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น  

ความผันผวนของค่าเงิน เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากและมักมาจากการคาดการณ์ของนักลงทุน เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ประกอบการควรบริหารความเสี่ยงโดยทำสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า หรือซื้อสิทธิ์ที่จะซื้อ หรือสิทธิ์ที่จะขายเงินตราต่างประเทศในอนาคต อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่ค่าเงินบาทมีความผันผวน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความผันผวนของเงินบาท”  

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทแข็งค่า ส่งผลดีทั้งในส่วนการนำเข้าสินค้าหมวดพลังงาน และสินค้าทุน วัตถุดิบ และกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งครองสัดส่วนถึง 83.8% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด โดยจะทำให้ต้นทุนลดต่ำลง โดยเฉพาะการนำเข้ามาผลิตต่อเพื่อการส่งออก ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันได้ สำหรับการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นสินค้าสำเร็จรูป ยังไม่เห็นสัญญาณสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาดสินค้าไทย หรือมีแนวโน้มการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากการนำเข้าจะต้องมีการตกลงราคาซื้อขายล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน แต่สนค. จะติดตามสถานการณ์การนำเข้าอย่างใกล้ชิดต่อไป 

ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยว่า สำหรับผู้ส่งออก หรือผู้ประกอบการ ที่กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ย่อมกระทบต่อต้นทุนของภาคธุรกิจ ทำให้การลงทุนของภาคเอกชนชะลอลง และในบางกรณีอาจผลักดันให้ราคาสินค้าสูงขึ้น เพื่อชดเชยต้นทุนของภาคธุรกิจ

นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากกระแสเงินทุนไหลเข้า ซึ่งล้วนส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกลดลง   อย่างไรก็ตามการขึ้นอัตราดอกเบี้ยขณะนี้มีความเหมาะสม ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และเต็มศักยภาพ เนื่องจาก ธปท. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังมีความเสี่ยงเงินเฟ้อจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ จึงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ