ยุบสภาฯ & เลิกภาษีหุ้น การเมืองเรื่องมวลชน

ยุบสภาฯ & เลิกภาษีหุ้น การเมืองเรื่องมวลชน

แม้การจัดเก็บภาษีหุ้นจะถูกพูดถึงมาเป็นเวลานาน แต่เมื่อถึงเวลาประกาศในราชกิจจานุเบกษาจริงอาจจะยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากรอยต่อทางการเมืองเพราะอาจจำเป็นให้รัฐบาลให้เข้ามาจัดการ

ถึงเวลานี้ต้องลุ้นว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี จะเลือกแนวทางการเป็น “รัฐบาลครบเทอม” ไปจนถึงวันที่ 23 มี.ค.2566 เป็นการ “รักษาอำนาจให้ยาวนานที่สุด” หรือเลือกยุบสภาฯก่อน ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตา พอๆ กับที่ “ฐานเสียงตลาดทุน” ที่วิเคราะห์ว่า “การจัดเก็บภาษีหุ้น” Financial Transaction Tax เก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกำหนดไว้ว่า จะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.1% ของมูลค่าที่ขาย ที่ได้รับการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534 มีแนวโน้มต้องเลื่อนออกไปก่อนจากเดิมที่คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ใช้ไตรมาส 2 ปี 2566

แต่ตลอดปีที่ผ่านมารัฐบาลมีการสื่อสารกับสังคมว่าจะมีการจัดเก็บภาษีหุ้น ผ่าน “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอย่างสม่ำเสมอว่า จริงๆ แล้วควรจะมีการจัดเก็บภาษีหุ้นมานานแล้ว เพราะมีการว่างเว้นมานานถึง 30 ปี ซึ่งขณะนี้ขั้นตอนการดำเนินการรอเพียงการประกาศในราชกิจจานุเบกษาผ่านไป 90 วันจะมีผลบังคับใช้ โดยจะมีการจัดเก็บภาษีขายในอัตรา 0.1 % ตั้งแต่บาทแรกที่มีการขาย โดยโบรกเกอร์จะต้องนำส่งภาษีการขายดังกล่าวมาให้กรมสรรพากรในทุกเดือน ซึ่งมีการประเมินว่ารัฐบาลจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวหลักหมื่นล้านบาทต่อปี

ว่ากันว่าการจัดเก็บ “ภาษีขายหุ้น” ที่กระทรวงการคลังประกาศว่าจะเก็บมาตลอดปีที่ผ่านมา ได้มีความเห็นต่างจากฟากฝั่งของ "นักลงทุน" และหน่วยงาน “ตลาดทุน”ม าโดยตลอด และแว่วว่าอาจจะยังไม่สามารถดำเนินการได้เร็ววันนี้ แม้ว่าจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วภายในวันนี้ พรุ่งนี้ แต่ก็ยังไม่มีผลบังคับใช้ได้ทันที นโยบายการ "การจัดเก็บภาษีขายหุ้น” ต้องรอให้รัฐบาลชุดใหม่ เข้ามาทำหน้าที่และสานต่อ หลังการเลือกตั้ง ฟอร์มรัฐบาลใหม่กว่าจะเรียบร้อยคาดว่าจะเป็นกลางปี 2566

ทว่าเป็นที่รับรู้กันว่าการเลือกตั้งฐานเสียงส่วนใหญ่อยู่ที่ "ประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ“ หากพรรคการเมืองใดมีนโยบายที่ได้ใจกลุ่มคนเหล่านี้ โอกาสที่จะได้เป็นตัวแทนเข้าไปนั่งในสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว แต่ก็ไม่สามารถมองข้าม “ฐานเสียงตลาดทุน” ได้เช่นกัน เพราะไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า “กลุ่มคนที่จะเสียภาษีหุ้น” คือคนที่มีกำลังทรัพย์ กำลังจ่าย และส่วนใหญ่อยู่ในภาคส่วนที่เป็นกลไกที่ขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นการยากที่“นักเลือกตั้ง”จะละเลยฐานคะแนนเสียงคนกลุ่มนี้ เพราะการพัฒนาประเทศล้วนต้องอาศัยกำลัง “คนกลุ่มนี้” ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาล(หน้า)จะต้องพิจารณาให้จงหนักแม้ว่าจะมีการประเมินว่าจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวหลักหมื่นล้านบาทต่อปีก็ตาม