ระทึกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เมินเสียงค้าน ‘ประเทศ’ เสียประโยชน์

ระทึกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เมินเสียงค้าน ‘ประเทศ’ เสียประโยชน์

ระทึกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม รฟม.เดินหน้าเต็มสูบ เมินเสียค้านปมกีดกันเอกชน-ฮั้วประมูล “พรรคฝ่ายค้าน” เดินหน้าแย้งเกณฑ์คัดเลือกอาจเข้าข่ายส่อฮั้วประมูล ทำรัฐเสียประโยชน์ 6.8 หมื่นล้าน

การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม บางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2563 หลังจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แก้ไขหลักเกณฑ์การประมูลและนำมาสู่การฟ้องศาลปกครอง 2 คดี และมีการยกเลิกการประมูล จนกระทั่ง รฟม.เปิดประมูลครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2565 และมีการยื่นฟ้องศาลปกครองในคดีกำหนดหลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 2 ชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย

รายงานข่าวจาก รฟม.ระบุว่า ร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ รฟม.จะลงนามบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ที่ชนะการประมูล อยู่ขั้นตอนของฝ่ายบริหาร รฟม.กำลังพิจารณาดำเนินการ เนื่องจากร่างสัญญาได้ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด และรายงานคณะกรรมการ รฟม.แล้วเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2566

แหล่งข่าว กล่าวว่า การประมูลครั้งที่ 2 เป็นการประมูลที่มีความเร่งรีบ โดยเปิดรับซองเอกสารในวันที่ 27 ก.ค.2565 หลังจากนั้นใช้เวลาไม่ถึง 23 วัน สามารถประกาศรายชื่อผู้ผ่านซอง 1 รวมทั้งมีการประกาศรายชื่อผู้ผ่านซอง 2 ในวันที่ 7 ก.ย.2565 ใช้เวลาประเมินเพียง 10 วัน นับจากการเปิดซอง 2 และท้ายที่สุดสามารถประกาศรายชื่อเอกชนที่ผ่านการประเมินสูงสุดได้ในวันที่ 8 ก.ย.2565
 

สำหรับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่าโครงการ 145,265 ล้านบาท ประกอบด้วยงานหลัก คือ การก่อสร้างงานโยธาช่วงตะวันตก (บางขุขนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม) อีกส่วนเป็นงานวางระบบรถไฟฟ้าและเดินรถไฟฟ้า 30 ปี

โครงการนี้มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานีและส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี

แหล่งข่าว กล่าวว่า การกำหนดหลักเกณฑ์ประมูลครั้งที่ 2 อาจเข้าลักษณะการกีดกันหรือสมยอมการประมูลนั้น โดยคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ของคณะกรรมาธิการศึกษาจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธาน ได้พบความไม่ถูกต้องในกระบวนการคัดเลือกดังกล่าว 3 ประเด็น คือ

1.การออก TOR ตามข้อเท็จจริงข้างต้น มีลักษณะกีดกัน ไม่ให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม

2.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ผู้เสนอราคาร่วมแข่งขันในครั้งนี้ เป็นบริษัทที่มีคุณสมบัติที่กำหนดไว้ในกฎหมายและประกาศคณะกรรมการนโยบาย (PPP) ว่าไม่สมควรเป็นผู้ร่วมลงทุนกับรัฐ เพราะกรรมการหรือผู้มีอำนาจลงนามต้องคำพิพากษาถึงที่สุดถึงจำคุก แต่คณะกรรมการคัดเลือกกลับปล่อยปละละเลย ไม่ตรวจสอบคุณสมบัติในชั้นตรวจสอบคุณสมบัติ และรับรองให้เป็นผู้มีคุณสมบัติเข้าร่วมแข่งขัน โดยไม่พิจารณาให้ขาดคุณสมบัติอันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย


3.การประมูลโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 ครั้ง กำหนดให้ผู้เสนอราคาต้องยื่นรายละเอียดเพื่อขอรับเงินสนับสนุนตามตารางที่กำหนด 2 ตาราง คือ ตารางขอรับการสนับสนุนในการก่อสร้างเป็นจำนวนเงินเท่าไร และตารางเสนอผลตอบแทนให้รัฐตลอดอายุสัญญาสัมปทานว่า จะจ่ายเงินตอบแทนให้รัฐแต่ละปีเป็นเงินเท่าไร จากนั้นจึงเอาตัวเลขทั้งสองตารางมาลบกัน จะเป็นจำนวนเงินที่ขอรับการสนับสนุนจากรัฐ

ทั้งนี้ ผลการเปิดซองข้อเสนอของ รฟม.พบว่า BEM เสนอผลประโยชน์สุทธิให้ รฟม.ติดลบ 78,287.95 ล้านบาท หมายความว่า BEM เสนอผลตอบแทนให้ รฟม.น้อยกว่าเงินที่ขอรับสนับสนุนค่าก่อสร้างจาก รฟม.ทำให้ รฟม.ต้องให้เงินสนับสนุนแก่ BEM จำนวน 78,287.95 ล้านบาท

แต่เมื่อเทียบกับการประมูลครั้งที่ 1 ซึ่งถูกล้มไป BTSC ได้เสนอผลประโยชน์สุทธิให้ รฟม.ติดลบ 9,675.42 ล้านบาท หมายความว่า รฟม.จะต้องให้เงินสนับสนุนแก่ BTSC จำนวน 9,675.42 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชนะการประมูลในการประมูลครั้งที่ 2 คือ BEM พบว่า รฟม.จะต้องให้เงินสนับสนุนแก่ BEM มากกว่าให้แก่ BTSC ถึง 68,612.53 ล้านบาท

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณากรณีที่ รฟม.กลับไปใช้หลักเกณฑ์เดิมในการเลือกผู้ชนะ โดยผู้ขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐน้อยสุดเป็นผู้ชนะ แต่กลับเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติผู้เสนอราคา 2 ส่วน คือ คุณสมบัติผู้เสนอราคาที่เป็นผู้มีอาชีพเดินรถไฟฟ้า จากเดิมต้องเป็นผู้เดินรถไฟฟ้าในไทย เปลี่ยนเป็นผู้เดินรถไฟฟ้าจากประเทศใดก็ได้ และส่วนผู้ก่อสร้างกลับกำหนดว่า ต้องเป็นบริษัทก่อสร้างที่มีผลงานกับรัฐบาลไทยเท่านั้น และต้องเป็นผลงานที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว

ทั้งนี้ จากการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติการคัดเลือกเอกชนข้างต้น พบว่าผู้เสนอราคาที่มีคุณสมบัติตามข้อกำหนดต้องเป็นผู้เดินรถไฟฟ้า และต้องเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีผลงานในไทยแล้วเสร็จ ทั้งโลกนี้มีเพียงบริษัทเดียวที่มีคุณสมบัติครบ 2 ข้อ คือ BEM เพราะเป็นผู้เดินรถไฟฟ้าใต้ดิน และมีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทรับเหมาในเครือ ที่มีคุณสมบัติการก่อสร้างครบตามที่กำหนด

ขณะเดียวกันหากสังเกตเฉพาะข้อกำหนดคุณสมบัติผู้รับเหมาก่อสร้างที่ต้องมีผลงานภาครัฐแล้วเสร็จ มีคุณสมบัติงานเจาะอุโมงค์มาแล้วจะพบว่าปัจจุบันมีบริษัทรับเหมาก่อสร้างในโลกเพียง 2 บริษัทที่มีคุณสมบัติครบถ้วน คือ ช.การช่าง และ ITD

รวมทั้งจากการกำหนดคุณสมบัติในลักษณะดังกล่าว ส่งผลให้ BTSC และพันธมิตร ที่เคยยื่นประมูลครั้งที่ 1 กลายเป็นผู้ขาดคุณสมบัติเข้าประมูลครั้งที่ 2 ไม่ได้ และทำให้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษในความผิดตาม พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ