จับตาเทรนด์ใหม่ ธนาคาร ‘ไร้สาขา’ เวอร์ชวลแบงก์

แบงก์ใหญ่ส่งสัญญาณลงสนามชิงไลเซนส์ ‘เวอร์ชวลแบงก์’ นำโดย ‘กสิกรไทย’ สนใจขอไลเซนส์ พร้อมเปิดกว้างจับมือพันธมิตร


แบงก์ใหญ่ส่งสัญญาณลงสนามชิงไลเซนส์ ‘เวอร์ชวลแบงก์’ นำโดย ‘กสิกรไทย’ สนใจขอไลเซนส์ พร้อมเปิดกว้างจับมือพันธมิตร ด้าน ‘กรุงศรี’ อยู่ระหว่างศึกษาหวังช่วยผู้ใช้บริการลดต้นทุนการเงิน ขณะที่ ‘ทีทีบี’ ชี้ยังไม่สนใจเข้าร่วมชิงไลเซนส์ ด้าน ‘กอบศักดิ์’ ฟันธงเวอร์ชวลแบงก์ สะเทือนวงการสถาบันการเงิน เหตุใช้พนักงานน้อยกว่า แต่เข้าถึงคนได้มากกว่าอื้อ ย้ำชัดไม่ปรับตัวอยู่รอดยาก

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่า หลักเกณฑ์ ในการขอใบอนุญาต (ไลเซนส์) ธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) น่าจะออกมาชัดเจน อย่างเป็นทางการได้ในช่วงสิ้นไตรมาสแรกปีนี้ ก่อนจะเปิดให้ผู้ให้บริการที่สนใจ ยื่นขอ “ไลเซนส์” ได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยคาดจะได้ชื่อผู้ที่ได้ไลเซนส์ 3 รายในช่วงแรก ราว ไตรมาส 2 ปี 2567 และ Virtual Bank จะสามารถเปิดให้บริการได้ตั้งแต่กลางปี 2568 เป็นต้นไป
กรอบหลักเกณฑ์การขอตั้ง Virtual Bank เบื้องต้น ต้องจดทะเบียนตั้งในประเทศไทย ภายใต้ทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท โดยจะให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก ไม่สามารถตั้งสาขาหรือมีสาขาอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ตู้เอทีเอ็มต่างๆ ได้ รูปแบบประกอบธุรกิจของ Virtual bank ต้องตอบโจทย์ Green line ได้อย่างยั่งยืนและผู้ให้บริการจะต้องมีความเชี่ยวชาญในการให้บริการผ่านดิจิทัลที่สำคัญ คือระบบต้องไม่ล่มเกิน 8 ชั่วโมงต่อปี หรือต่อครั้งไม่เกิน 2 ชั่วโมง ฯลฯ

‘กสิกรไทย’สนใจขอไลเซนส์ เปิดกว้างจับมือพันธมิตร 

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า การมาของ Virtual Bank ถือเป็นการเพิ่มการแข่งขันในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลดีต่อทั้งระบบการเงินและการให้บริการประชาชน และยิ่งการมาของ Virtual Bank เป็นไปตามเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนดเป้าหมายไว้ได้จริง ก็น่าจะทำให้ประเทศได้รับประโยชน์มากขึ้น

ทั้งนี้ หนึ่งในเป้าหมายของ ธปท.ในการมี Virtual Bank คือ การเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินให้กับลูกค้าขนาดเล็ก ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการในรูปแบบดิจิทัลอยู่แล้ว ควบคู่กับมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมรูปแบบใหม่ และการผนึกกำลังกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินให้แก่ประชาชนในวงกว้าง เช่น การให้บริการผ่านโครงการ ‘สินเชื่อเงินด่วนเพื่อธุรกิจ’ และ โครงการ ‘K PAY LATER’ รวมถึงการขยายจุดให้บริการในพื้นที่ห่างไกลผ่าน Banking Agent ทำให้ธนาคารสามารถเข้าถึงลูกค้าขนาดเล็กและลูกค้ารายใหม่ได้เพิ่มขึ้น

ดังนั้น ภายใต้การขับเคลื่อนธุรกิจบนหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการปรับโมเดลการทำธุรกิจ ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ธนาคารมีการพิจารณาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งรวมถึงโอกาสในการขอ Virtual Bank License นี้ด้วย

นอกจากนี้ ธนาคารยังเปิดกว้างในการหารือร่วมกับพันธมิตรธุรกิจต่าง ๆ เกี่ยวกับ Virtual Bank โดยธนาคารมุ่งเน้นการพิจารณาว่า การได้มาซึ่ง Virtual Bank License ดังกล่าว จะทำให้สามารถให้บริการลูกค้าได้ดีขึ้นกว่าปัจจุบันที่ธนาคารทำอยู่ หรือ ทำร่วมกับพาร์ตเนอร์ ปัจจุบันอยู่หรือไม่ และลูกค้าได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นหรือไม่

ควบคู่กับการประเมินปัจจัยทางด้านความเสี่ยง กรอบการดำเนินธุรกิจและกฎข้อบังคับต่างๆร่วมด้วย ในการตัดสินใจเกี่ยวกับ Virtual Bank License เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมาย พันธกิจ และวิสัยทัศน์ของธนาคารให้มากที่สุด

 

กรุงเทพ-กรุงศรีฯอยู่ระหว่างศึกษา

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการศึกษา โมเดลของการทำ Virtual bank ซึ่งต้องรอให้การศึกษา ออกมาชัดเจนก่อน ถึงสามารถตัดสินใจได้ว่า สนใจ ในการขอใบอนุญาต Virtual bank หรือไม่ ซึ่งปัจจุบัน ก็ยังไม่มีนอนแบงก์​หรือพันธมิตร เข้ามาคุยกับธนาคาร เพื่อร่วมจัดตั้ง Virtual bank ดังกล่าว
“ธนาคารขอศึกษาดูก่อน ตอนนี้ก็ศึกษาอยู่ ส่วนสนใจหรือไม่ ขอให้ผลศึกษาออกมาก่อน ซึ่งก็ยังไม่ทราบ ว่าหากสนใจ จะทำคนเดียวหรือจับมือร่วมกับพันธมิตร แต่วันนี้ ยังไม่มีใครเข้ามาหารือ เพื่อร่วมทำธุรกิจดังกล่าว”

 

Virtual bank กดต้นทุนการเงินต่ำลง

นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) BAY กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงศรีฯ อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด ความเป็นไปได้ และประเมินโอกาสรวมถึงความสอดคล้องกับกลยุทธ์การดำเนินงานของธนาคารโดยรวม ในการจัดตั้ง Virtual bank

โดยกรุงศรี มองว่า การอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา จะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมบทบาทภาคการเงินไทยให้สามารถขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล และการเติบโตอย่างยั่งยืนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัลที่มีต้นทุนการให้บริการต่ำ สะดวกและปลอดภัย ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
“แบงก์ไร้สาขา จะเป็นโอกาสให้ขนาดของตลาดการเงินของไทยขยายใหญ่ขึ้น และจะผลักดันให้ผู้เล่นรายต่าง ๆ ในธุรกิจนี้ ทั้งรายใหม่และรายเดิม เร่งปรับตัวและปรับเปลี่ยนองค์กรให้ทันเพื่อคว้าโอกาสใหม่ทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในตลาด”

 

‘เอสซีบี เอกซ์’สน Vritual bank

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB กล่าวในที่ประชุมวาระพิเศษของธนาคารว่า บริษัทสนใจจัดตั้ง Virtual Bank แต่เรื่องนี้คงต้องใช้เวลาศึกษารายละเอียด เพราะแม้ว่า ธปท. จะมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนออกมาระดับหนึ่งแล้ว แต่โดยไทม์ไลน์ต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่จะเริ่มให้ดำเนินการได้จริง

ขณะที่ แผนลงทุนSCBX อยู่ระหว่างปี 2565-2567 ภายใต้การออกหุ้นกู้ 1 แสนล้านบาท ดังนั้นหากการจัดตั้ง Virtual Bank เร่งระยะเวลาขึ้นมา การจัดหาเงินทุนในครั้งนี้จะมีส่วนที่จะใช้สำหรับ Virtual Bank ด้วย

 

‘กรุงไทย’จับมือเอไอเอส 

ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) หรือ ADVANC อย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมศึกษาการให้บริการ “Virtual Bank” หรือ ธนาคารไร้สาขา อย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ เชื่อว่า Virtual bank ไม่ใช่ธุรกิจรูปแบบใหม่ แต่เป็นธุรกิจที่ทำมาแล้ว ในหลายประเทศ อาทิ ในยุโรป สิงคโปร์ ฮ่องกง และ จีน หรือ เรียกว่า Open finance
ส่วนการทำ Virtual bank ในไทย เชื่อว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจ และเอื้อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น ทั้งลูกค้าใหม่ และลูกค้าลูกค้าเก่า ให้เข้าถึงบริการทางการเงินที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจาก แอดวานซ์ ถือเป็นนอนแบงก์ ที่มีฐานลูกค้าและการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ
ดังนั้นนอกจาก ร่วมศึกษาทำ Virtual bank ร่วมกันแล้ว เชื่อว่ายังเป็นการเปิดโอกาสในการหาแนวทางทำธุรกิจร่วมกันต่อไปในอนาคตด้วย