ชง ครม. เคาะเอฟทีเอ ‘ไทย-อียู’ เป็นประเทศที่ 3 ของอาเซียน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ แถลงผลการหารือทวิภาคีกับนายวัลดิส โดมโบรฟสกิส (H.E. Mr. Valdis Dombrovskis) รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า หรือรองนายกรัฐมนตรีและรมว.การค้าของสหภาพยุโรป

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ แถลงผลการหารือทวิภาคีกับ นายวัลดิส โดมโบรฟสกิส (H.E. Mr. Valdis Dombrovskis) รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า หรือรองนายกรัฐมนตรีและรมว.การค้าของสหภาพยุโรป ในช่วงเย็นวันที่ 25 ม.ค. 66 ตามเวลาท้องถิ่น ที่ Le Berlaymont กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม

  นายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของไทยกับสหภาพยุโรป ที่ได้มีการเจรจาจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป โดยเป็นการเจรจาที่มีผลสัมฤทธิ์ที่ฝ่ายการเมืองของทั้ง 2 ฝ่าย มีข้อสรุปแสดงเจตจำนงร่วมกันในการเริ่มต้นให้แต่ละฝ่ายดำเนินกระบวนการภายใน เพื่อนำไปสู่การจัดทำ FTA ระหว่าง 2 ฝ่ายต่อไปโดยเร็ว ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายการเมืองทั้ง 2 ฝ่ายประชุมและแสดงเจตจำนงร่วมกัน
          ในส่วนของประเทศไทย จะนำเข้าหารือเดินหน้าเพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบในการจัดทำ FTA ไทย-อียู ต่อไป ส่วนรองนายกรัฐมนตรีและรมว.การค้าของสหภาพยุโรป จะนำผลการหารือไปดำเนินการภายในของสหภาพยุโรป เพื่อขอคำรับรองจากสมาชิก 27 ประเทศต่อไป โดยตั้งเป้าจะดำเนินการตามกระบวนการภายในให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด เพื่อประกาศนับหนึ่งการเริ่มต้นเจรจา FTA ไทยกับสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการต่อไป

    ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งเราใช้ความพยายามในการทำ FTA กับสหภาพยุโรปมาแล้วเกือบ 10 ปี แต่ยังไม่สามารถนับหนึ่งในลักษณะนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
          นายจุรินทร์ กล่าวว่า สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทย รองจากจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ถือว่าเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญ โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับอียู มีมูลค่า 41,038 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.87% สัดส่วนการค้าประมาณ 7% ของการค้ากับโลก และไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 22,794 ล้านเหรียญสหรัฐ (843,378 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 5.17% 
          สำหรับสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปอียู เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ รถยนต์และอุปกรณ์ แอร์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยางพารา อัญมณีและเครื่องประดับ และไก่แปรรูป เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากอียู เช่น เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ และยา เป็นต้น
          ปัจจุบัน อียูมี FTA กับประเทศอาเซียน 2 ประเทศ คือ เวียดนามและสิงคโปร์ ถ้ากระบวนการทั้งหมดเป็นไปตามเป้าหมาย ไทยจะเป็นประเทศที่ 3 และถ้าประสบความสำเร็จ ไทยจะมีตลาดการค้าที่เราได้เปรียบคู่แข่งจากประเทศอื่นเพิ่มขึ้น 27 ประเทศ และจะเป็นแต้มต่อทางการค้าให้กับไทย รวมถึงเป็นการสร้างเงิน สร้างอนาคตให้กับประเทศต่อไป
          "ตั้งใจจะเสนอเรื่องเข้า ครม. ให้ได้ภายใน 2 สัปดาห์นี้ เนื่องจากทางอียูจะเร่งดำเนินกระบวนการภายในขอคำรับรองจาก 27 ประเทศ ให้เสร็จโดยเร็วเช่นกัน ทั้งนี้ หัวหน้าฝ่ายไทยเป็นอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะเป็นหน่วยงานเจรจาคู่กับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศของอียู และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป" นายจุรินทร์ กล่าว