ส่องโมเดลประเทศใน "ยุโรป" อุดหนุนเงิน "คนรุ่นใหม่" เสพวัฒนธรรม

ส่องโมเดลประเทศใน "ยุโรป" อุดหนุนเงิน "คนรุ่นใหม่" เสพวัฒนธรรม

รัฐบาลประเทศใน “ยุโรป” หลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี สเปน ฝรั่งเศส ที่มอบเงินให้แก่เยาวชนที่บรรลุนิติภาวะ “หลายร้อยยูโร” เพื่อใช้สำหรับการใช้จ่ายด้านวัฒนธรรม มีจุดประสงค์ให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และช่วยเหลือภาคธุรกิจหลังจากเผชิญกับการระบาดของโควิด-19

เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา เยอรมนี กลายเป็นประเทศล่าสุดในยุโรปที่ ประกาศมอบ “KulturPass” บัตรเงินสดมูลค่า 200 ยูโร หรือประมาณ 7,300 บาท ให้แก่เยาวชนทุกคนในเยอรมนีที่มีอายุครบ 18 ปีในปี 2566 ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 750,000 คน สำหรับใช้จ่ายด้านวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นซื้อหนังสือ เข้าชมละครเวที ชมดนตรี ท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ และชมภาพยนตร์ โดยสามารถทำการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ได้ อีกทั้งวงเงินนี้สามารถใช้ได้ภายในระยะเวลา 2 ปี

“ฉันหวังว่า KulturPass จะช่วยให้คนรุ่นใหม่ ออกไปสัมผัสวัฒนธรรม ได้เห็นถึงความหลากหลายและการสร้างแรงบันดาลใจนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งพวกเขาสามารถนำบัตรไปใช้ดูคอนเสิร์ตศิลปินที่ชอบ ไปเดินเล่นในพิพิธภัณฑ์ หรือไปดูละครเวทีก็ได้ เพราะทั้งหมดนี้ล้วนเป็นวัฒนธรรม” คลอเดีย ร็อธ รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของเยอรมนี ผู้สนับสนุนโครงการดังกล่าวระบุ

 

  • ให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงวัฒนธรรม

ร็อธกล่าวว่า ที่มาของโครงการนี้มีด้วยกัน 2 ประการ คือ อย่างแรกต้องการให้เยาวชนได้ทำกิจกรรมทางวัฒนธรรม หลังจากที่คนรุ่นใหม่ไม่ได้สัมผัสสิ่งเหล่านี้มานานเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ต้องล็อกดาวน์ ปิดโรงเรียนและสถานที่ต่าง ๆ มากมาย 

อีกประการคือต้องการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่วงการศิลปะของเยอรมนีที่กำลังพยายามหาทางรอดทางธุรกิจ แม้ว่าในปี 2563 รัฐบาลเยอรมนีได้จัดสรรเงินมูลค่า 1,000 ล้านยูโร หรือราว 36,544 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือธุรกิจภาคศิลปะและวัฒนธรรมเป็นกรณีฉุกเฉิน เนื่องจากผู้คนจำนวนมากจำเป็นต้องอยู่บ้านเนื่องด้วยมาตรการล็อกดาวน์ และในปี 2654 รัฐบาลได้อัดฉีดเงินเพิ่มอีก 1,000 ล้านยูโร (ราว 36,544 ล้านบาท) 

LES CONTES D'HOFFMANN จะแสดงตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม นี้ที่ Deutsche Oper ในกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี

 

ดังนั้น โครงการบัตรเงินสด นี้จึงเป็นมาตรการช่วยเหลือวงการศิลปะและวัฒนธรรมเพิ่มเติม มูลค่า 100 ล้านยูโร หรือประมาณ 3,654 ล้านบาท ซึ่งหากโครงการนี้ได้ผลจะเพิ่มวงเงินให้สำหรับเยาวชนที่มีอายุ 15-17 ปีอีกด้วย

“จากการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 และตอนนี้ที่มีการรุกรานยูเครนของ วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ส่งผลให้เยอรมนีเผชิญกับราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ขณะเดียวกัน สถาบันทางวัฒนธรรมหลายแห่งกำลังประสบปัญหาจำนวนผู้เข้าชมที่ลดน้อยลง และไม่มีอารมณ์จะกลับมาใช้บริการ ฉันหวังว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้คนกลับมาสนใจศิลปวัฒนธรรมอีกครั้งและนำผู้ชมกลุ่มใหม่เข้าสู่วงการนี้ด้วย” ร็อธกล่าวสรุป

อย่างไรก็ตาม เยอรมนีไม่ใช่ประเทศแรกในสหภาพยุโรปที่มีโครงการเช่นนี้

 

  • โครงการสนับสนุนด้านวัฒนธรรมของสเปน

ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา สเปนประกาศโครงการ Bono Cultural Joven มอบเงินจำนวน 400 ยูโร หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 14,600 บาท ให้กับเยาวชนอายุ 18 ปี เพื่อใช้สำหรับกิจกรรมและสื่อที่จับต้องได้ โดยมีอายุการใช้งาน 1 ปี ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อคืนชีพวงการครีเอทีฟที่ประสบปัญหามาหลายปี เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาถูกตัดเงินทุนมาหลายปี

ในถ้อยแถลงของรัฐบาลที่ส่งถึงนิตยสาร TIME ระบุว่า โครงการนี้เป็นความพยายามจะส่งเสริมการสร้างนิสัยบริโภควัฒนธรรมในคนรุ่นใหม่ ดังนั้นเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่นิสัยเหล่านี้จะติดตัวไป และทำให้พวกเขาบริโภคผลิตภัณฑ์เชิงวัฒนธรรมสืบต่อไป

ส่องโมเดลประเทศใน \"ยุโรป\" อุดหนุนเงิน \"คนรุ่นใหม่\" เสพวัฒนธรรม

Museo del Prado พิพิธภัณฑ์ศิลปะที่จัดแสดงงานศิลปะของจิตรกรชื่อดังของสเปน

โครงการของสเปนทำให้เยาวชนชาวสเปนจำนวน 281,557 คน ตลอดจนผู้พำนักอาศัยตามกฎหมายและผู้ลี้ภัย ได้รับสิทธิ์รับความช่วยเหลือด้านวัฒนธรรม โดยโครงการนี้ใช้เงินไป 210 ล้านยูโร (7,674 ล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม ทั้งกระทรวงวัฒนธรรมของเยอรมันและสเปนระบุว่า รัฐบาลได้รับแรงบันดาลใจจากความสำเร็จของ Culture Pass กองทุนวัฒนธรรมของฝรั่งเศส ซึ่งก่อตั้งโดยรัฐมนตรีวัฒนธรรมของประเทศ ริมา อับดุล มาลัค เมื่อเดือนพ.ค. 2564 ที่ผ่านมา

 

  • ฝรั่งเศสต้นแบบการสนับสนุนวัฒนธรรม

กว่า 1 ปีแล้ว ที่ชาวฝรั่งเศสอายุ 18 ปี ได้รับ บัตรเงินสดวัฒนธรรม มูลค่า 300 ยูโร (10,900 บาท) สำหรับใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันธุรกิจให้บริการด้านวัฒนธรรมและสถาบันศิลปินกว่า 8,000 แห่งทั่วฝรั่งเศส โดยมีระยะเวลาในการใช้วงเงินภายใน 2 ปี

จากข้อมูลของหนังสือพิมพ์ New York Times พบว่า วัยรุ่นฝรั่งเศสส่วนใหญ่มักสนใจการ์ตูนญี่ปุ่น เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับข้อมูลจากผู้จัดการแอปพลิเคชัน Culture Pass ระบุว่า คนรุ่นใหม่ใช้เงินของโครงการซื้อหนังสือถึง 75% ของการสั่งซื้อทั้งหมด โดย 2 ใน 3 ของการซื้อหนังสือ คือ หนังสือการ์ตูนมังงะ ซึ่งเป็นรูปแบบสื่อที่ได้รับความนิยมอย่างไม่น่าเชื่อในฝรั่งเศส

ด้วยข้อเท็จจริงนี้ทำให้ ปิแอร์ อุโซเลียส วุฒิสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส กล่าวกับ New York Times ว่า ควรให้ซื้อเฉพาะสินค้าหรือกิจกรรมที่สร้างรายได้ให้แก่ศิลปินชาวฝรั่งเศส “วัยรุ่นมักจะซื้อสินค้าที่พวกเขารู้จักอยู่แล้วเป็นอย่างดี ผมนึกไม่ออกเลยว่าจะมีใครใช้บัตรเหล่านี้ไปนั่งฟังโอเปรายุคบาโรก”

ขณะที่ เอลิซาเบตตา ลาสซาโร นักเศรษฐศาสตร์วัฒนธรรมและศาสตราจารย์ของ University for the Creative Arts ในสหราชอาณาจักร ให้ความเห็นว่า ถึงแม้คนรุ่นใหม่จะไม่ได้ใช้เงินเพื่อการเข้าชมศิลปะชั้นสูง แต่โครงการนี้ยังสร้างประโยชน์ทางสังคมอย่างยั่งยืนได้ด้วยการสนับสนุนให้คนหนุ่มสาวสร้างสัมพันธ์กับวัฒนธรรมต่าง ๆ ไปตลอดชีวิต

แน่นอนว่า การซื้อการ์ตูนญี่ปุ่นไม่ได้ช่วยให้ศิลปินชาวฝรั่งเศสมีรายได้มากขึ้น แต่ผู้เข้าร่วมโครงการ Culture Pass จะมีเงิน 100 ยูโร (3,650 บาท) สำหรับซื้อสื่อออนไลน์และวิดีโอเกม ที่ให้บริการหรือจัดจำหน่ายโดยบริษัทของฝรั่งเศส

ส่องโมเดลประเทศใน \"ยุโรป\" อุดหนุนเงิน \"คนรุ่นใหม่\" เสพวัฒนธรรม

พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะชื่อดังก้องโลกในฝรั่งเศส -เครดิตภาพ: เฟซบุ๊ก Musée du Louvre-

 

การใช้จ่ายในด้านศิลปะและวัฒนธรรมยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปได้อีกด้วย จากข้อมูลของ Culture Action Europe เครือข่ายวัฒนธรรมของยุโรป ระบุว่า ในปี 2562 อุตสาหกรรมด้านวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์มีมูลค่า 509,000 ล้านยูโร หรือคิดเป็นประมาณ 5.3% ของจีดีพีสหภาพยุโรป

นอกจากใน 3 ประเทศข้างต้นแล้ว ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปก็มีนโยบายสนับสนุนวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น สหราชอาณาจักร เปิดให้ทุกคนสามารถเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฟรี ขณะที่เบลเยียมให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าชมพิพิธภัณฑ์ฟรี และมีส่วนลดให้สำหรับนักเรียน นักศึกษาที่มีอายุต่ำกว่า 26 ปีด้วยเช่นกัน 

ขณะที่อิตาลีเป็นชาติแรกในยุโรปมีนโยบายสนับสนุนด้านวัฒนธรรมด้วยการมอบเงิน 500 ยูโร (ประมาณ 18,300 บาท) แก่ผู้ที่มีอายุ 18 ปีมาตั้งแต่ปี 2559 แม้มีรายงานว่ารัฐบาลพยายามยกเลิกในปี 2561 แต่กองทุนนี้ก็ยังได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรมมาโดยตลอด

จากกรณีศึกษาในยุโรป คงจะดีไม่น้อยหากพรรคการเมืองของไทยนำโครงการนี้มาเป็นหนึ่งในนโยบายสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า เนื่องจากสินค้าและการบริการด้านวัฒนธรรมและเชิงความคิดสร้างสรรค์ในประเทศไทยนั้นไม่ได้มีราคาถูก ทำให้หลายทุกคนไม่สามารถเข้าถึงได้ ทั้งที่สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจ เกิดการเรียนรู้ถึงความหลากหลาย สะท้อนถึงตัวตน และสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ออกมาได้อย่างไม่สิ้นสุด

 

ที่มา: Art Net, BBC, BundersergierungThe Art NewspaperThe GuardianThe New York Times, TIME