13 บริษัทชิงทางด่วนภูเก็ต 'บีทีเอส-บีอีเอ็ม' สนประมูล

13 บริษัทชิงทางด่วนภูเก็ต 'บีทีเอส-บีอีเอ็ม' สนประมูล

การทางพิเศษฯ ปิดขายซองประมูลด่วนกะทู้ - ป่าตอง 1.4 หมื่นล้านบาท เอกชนไทย-เทศ แห่เข้าร่วม 13 ราย "บีทีเอส" ชูประสบการณ์บริหารโครงสร้างพื้นฐานเข้าสู้ กำหนดยื่นข้อเสนอ 7 เม.ย.นี้

หลังจากที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดจำหน่ายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal : RFP) โครงการทางพิเศษ สายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 26 ธ.ค.2565-25 ม.ค.2566 มีเอกชนไทยและต่างชาติสนใจซื้อซองเอกสาร 13 ราย 

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ.กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีมากเพราะมีบริษัทรายใหญ่ที่มีชื่อเสียง และมีประสบการณ์ดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานสนใจร่วมประมูล และหลังจากนี้ กทพ.จะให้ยื่นข้อเสนอวันที่ 7 เม.ย.2566 โดยเอกชนที่จะยื่นข้อเสนอหรือรวมกลุ่มยื่นข้อเสนอโครงการนี้ ต้องเป็นเอกชนที่ซื้อเอกสาร RFP เท่านั้น จากนั้นจะเปิดซองข้อเสนอที่ 1 วันที่ 28 เม.ย.2566 คาดว่าได้เอกชนผู้ชนะประมูลปลายปี 2566 ก่อนเริ่มต้นก่อสร้างโครงการปี 2567 ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการปี 2570

สำหรับเอกชนที่ซื้อเอกสาร RFP ทั้ง 13 ราย แบ่งเป็นบริษัทไทย 9 บริษัท และบริษัทต่างชาติ 4 บริษัท ประกอบด้วย 

1.บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

2.บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

3.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)

4.บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) 

5.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม

6.บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)

7.บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด(มหาชน)

8.บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) 

9.บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน) 

10.บริษัท ไชน่า ฮาเบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

11.บริษัท ไชน่า เรลเวย์ 20 บิวโร กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด

12.SRBG Bridge Engineering จากประเทศจีน

13.บริษัท Egis จากประเทศฝรั่งเศส

13 บริษัทชิงทางด่วนภูเก็ต \'บีทีเอส-บีอีเอ็ม\' สนประมูล

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เข้าซื้อซองเอกสารประกวดราคาโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต เนื่องจากเห็นว่าเป็นโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่บริษัทฯ มีความถนัดอยู่แล้ว อีกทั้งปัจจุบันบริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างร่วมลงทุนดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) 

ดังนั้นเชื่อมั่นว่าจะมีศักยภาพเพียงพอในการเข้าแข่งขันร่วมลงทุนพัฒนาทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง ส่วนจะรวมกลุ่มกับพันธมิตรเดิมอย่างกิจการร่วมค้า BGSR เพื่อยื่นข้อเสนอหรือไม่นั้นอยู่ระหว่างการเจรจา

รายงานข่าวจาก กทพ.เผยว่า ข้อกำหนดคุณสมบัติทางด้านเทคนิค ประสบการณ์และผลงาน กทพ.กำหนดว่าผู้ยื่นข้อเสนอต้องนำเสนอเอกสารและหลักฐานเพื่อแสดงคุณสมบัติทางด้านเทคนิค ประสบการณ์และผลงาน อาทิ ประสบการณ์ด้านการก่อสร้างงานโยธา โดยต้องมีประสบการณ์ด้านการก่อสร้างงานโยธาโดยมีผลงานแล้วเสร็จที่เป็นคู่สัญญา โดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทย โดยผลงานแต่ละประเภทต้องเป็นผลงานในสัญญาเดียว หรือเป็นผลงานรวมกันทั้งสองประเภทในสัญญาเดียวซึ่งมีลักษณะของผลงาน ดังต่อไปนี้

ก.ก่อสร้างทางยกระดับ (Elevated Structure) ที่เป็นถนน หรือทางรถไฟฟ้า หรือทางรถไฟที่มีมูลค่างานไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท (ห้าร้อยล้านบาทถ้วน) และ

ข.ออกแบบและก่อสร้างงานอุโมงค์ (Tunnel) สำหรับถนน หรือทางรถฟฟ้า หรือทางรถไฟ หรืองานสาธารณูปโภคอื่น ที่ก่อสร้างด้วยวิธีที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล เช่น New Austrian Tunneling Method (NATM) หรือ Tunneling Boring Machine (TBM) เป็นต้น ที่มีมูลค่างานไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท (หนึ่งพันล้านบาทถ้วน)

ในกรณีที่ขาดประสบการณ์และผลงานในข้อนี้ผู้ยื่นข้อเสนอสามารถนำประสบการณ์และผลงานของผู้รับจ้าง (Contractor) มาแสดงเพื่อประกอบการยื่นข้อเสนอได้ โดยผู้รับจ้างดังกล่าวต้องสละสิทธิ์ไม่เข้าร่วมและไม่อยู่ในบัญชีผู้รับจ้าง (Contractor List) ของผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นๆ

ทั้งนี้หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนในเบื้องต้น จะประกอบไปด้วย 5 ซอง ได้แก่ ซองไม่ปิดผนึก ซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน และซองที่ 4 ข้อเสนออื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการให้บริการและการดำเนินงานของ กทพ. 

ส่วนการประเมินคะแนนด้านเทคนิค ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องได้รับคะแนนประเมินในแต่ละข้อไม่น้อยกว่า 85% และต้องได้รับคะแนนการประเมินรวมทุกข้อไม่น้อยกว่า 90% ของคะแนนรวมทั้งหมด

สำหรับเอกชนที่ได้รับสิทธิร่วมลงทุน จะมีระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้นไม่เกิน 35 ปี นับจากวันที่ กทพ. มีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระยะดังนี้ ระยะที่ 1 ออกแบบและก่อสร้าง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 4 ปี นับจากวันที่ กทพ. มีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน และระยะที่ 2 การดำเนินงานบริหารจัดการและบำรุงรักษา โดยมีระยะเวลาตั้งแต่วันเปิดให้บริการโครงการฯ จนถึงวันที่ครบกำหนด 35 ปี นับจากวันที่ กทพ. มีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน

ทั้งนี้โครงการทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 14,670 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 5,792.24 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง (รวมค่าควบคุมงาน) 8,878.34 ล้านบาท 

กทพ.คาดการณ์ปริมาณจราจร ณ ปีเปิดให้บริการ ประมาณ 71,000 คันต่อวัน แบ่งเป็นรถยนต์ 36,000 คันต่อวัน และรถจักรยานยนต์ 35,000 คันต่อวัน

สำหรับทางด่วนสายนี้มีขนาด 8 ช่องจราจร (ไป-กลับฝั่งละ 4 ช่องจราจร) ให้รถยนต์วิ่ง 2 ช่อง และรถจักรยานยนต์ 2 ช่องจราจร เบื้องต้นจัดเก็บค่าผ่านทางรถจักรยานยนต์ 15 บาท, รถ 4 ล้อ 40 บาท, รถ 6-10 ล้อ 80 บาท และมากกว่า 10 ล้อ 125 บาท