ครม.ยกเว้นภาษี-ค่าธรรมเนียม ลงทุนอสังหาฯ ผ่านกองทรัสต์ (REIT) ถึงสิ้นปี 67

ครม.ยกเว้นภาษี-ค่าธรรมเนียม ลงทุนอสังหาฯ ผ่านกองทรัสต์ (REIT) ถึงสิ้นปี 67

ครม.เห็นชอบมาตรการ ยกเว้นภาษี และค่าธรรมเนียม ส่งเสริมการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ผ่านกองทรัสต์ (REIT) ถึงสิ้นปี 67

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ว่า ครม.เห็นชอบมาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียม เพื่อส่งเสริมการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ผ่านกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เรื่องนี้

สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เช่น ผลตอบแทนที่ได้จากค่าเช่าน้อยลง ภาคเอกชนจึงต้องการนำกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์แปลงสภาพไปเป็นกองทรัสต์ ทำให้ช่วยลดต้นทุนและลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ

ดังนั้น กระทรวงการคลัง จึงเสนอมาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียม เพื่อส่งเสริมการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ผ่านกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และ ยกร่างพระราชกฤษฎีกาขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1.มาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียม เพื่อส่งเสริมการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ผ่านกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 และเศรษฐกิจชะลอตัว

โดยดำเนินการยุบกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) แล้วแปลงสภาพเป็นกองทรัสต์ ซึ่งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์มีระยะเวลาดำเนินการโอนทรัพย์สินให้กองทรัสต์ นับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
 
2.ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเกี่ยวกับมาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียม ดังนี้

มาตรการทางภาษี ประกอบด้วย

1. ยกเว้นภาษีเงินได้ ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ สำหรับเงินได้ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไปเป็นใบทรัสต์ อันเนื่องมาจากการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นกองทรัสต์ (ปัจจุบัน ภาษีอัตราร้อยละ 0-35)

2. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ สำหรับมูลค่าของฐานภาษีรายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการโอน หรือก่อทรัพย์สิทธิหรือสิทธิใด ๆ ในทรัพย์สิน  อันเนื่องมาจากการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นกองทรัสต์ (ปัจจุบัน ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ภาษีธุรกิจเฉพาะร้อยละ 3.3 และอากรแสตมป์ร้อยละ 0.5)

ส่วน มาตรการค่าธรรมเนียม คือ กำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์และอาคารชุด ประเภทมีทุนทรัพย์ อันเนื่องมาจากการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นกองทรัสต์ ตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน เหลือร้อยละ 0.01 แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท (ปัจจุบัน มีค่าธรรมเนียมในการโอนร้อยละ 2)

ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมที่ดิน ดำเนินการยกร่างกฎกระทรวงรวม 2 ฉบับ คือ

1.ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์สำหรับการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไปเป็นกองทรัสต์ พ.ศ. .... 

2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคารชุดสำหรับการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไปเป็นกองทรัสต์ พ.ศ. .... เสนอ ครม.พิจารณาต่อไป เพื่อรองรับมาตรการด้านค่าธรรมเนียมตามร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว
 
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า มาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อส่งเสริมการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ผ่านกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์นี้ จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ทางภาษีประมาณ 3,500 ล้านบาท และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสูญเสียรายได้จากค่าธรรมเนียมประมาณ 3,092 ล้านบาท แต่จะเป็นประโยชน์อย่างในการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ และภาครัฐยังสามารถจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ หลังจากแปลงสภาพเป็นกองทรัสต์ได้เพิ่มขึ้น โดยจะมีธุรกรรมที่มีการขยายการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติม เช่น การโอนอสังหาริมทรัพย์ การจำนองอสังหาริมทรัพย์ และการจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น