คมนาคมเร่ง ‘TOD บางซื่อ’ โรดโชว์ 2 แปลง 1.5 หมื่นล้าน

คมนาคมเร่ง ‘TOD บางซื่อ’ โรดโชว์ 2 แปลง 1.5 หมื่นล้าน

คมนาคมดัน SRTA เร่งศึกษาพัฒนาพื้นที่รอบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์แล้วเสร็จปีนี้ พร้อมลุยโรดโชว์ดึงนักลงทุน ประเดิมแปลง A และ E พื้นที่รวม 160 ไร่ เม็ดเงินกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เพื่อผลักดันให้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ระบบขนส่งทางรางและการเดินทางของอาเซียน กระทรวงฯ มีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้โดยสาร และทำให้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์แห่งนี้เป็นจุดหมายปลายทาง เป็นต้นทางของการเดินทางและเป็นพื้นที่ที่ประชาชนมาใช้บริการเพื่อพักผ่อน

โดยขณะนี้กระทรวงฯ ได้เร่งรัดให้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) ซึ่งเป็นบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ดำเนินการศึกษาแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เนื้อที่ 2,325 ไร่ เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านเชิงพาณิชย์แก่ผู้ใช้บริการรถไฟ รวมทั้งประชาชนส่วนอื่นที่จะสามารถเข้ามาใช้บริการได้

เพราะการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี หรือ TOD จะทำการศึกษาร่วมกับญี่ปุ่น ที่มีการปรับเอาโมเดลพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟของญี่ปุ่นมาใช้ อาทิ การพัฒนาศูนย์การค้า โรงแรม และศูนย์ประชุม เบื้องต้นคาดว่าจะแบ่งระยะการพัฒนา โดยนำเอาที่ดินในส่วนของแปลง A และ E มาศึกษาเป็นส่วนแรก คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อเริ่มต้นจัดโรดโชว์ สำรวจความสนใจของนักลงทุน

ทั้งนี้ การศึกษาแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ก่อนหน้านี้ ร.ฟ.ท.เคยทำการศึกษาแผนพัฒนาแปลง A บนพื้นที่ 32 ไร่ มูลค่าลงทุน 11,721 ล้านบาท โดยที่ดินแปลงนี้อยู่ติดกับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ทางทิศใต้ มีระยะห่างประมาณ 140 เมตร ทิศเหนือติดถนนสายหลักของอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เป็นถนนเชื่อมต่อระหว่างสถานีกับแปลง A ทิศใต้ติดแนวคลองบางซื่อและถนนกำแพงเพชร ทิศตะวันออกติดแนวรั้วทางด่วนศรีรัช ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยก่อนหน้านี้ ร.ฟ.ท.ทำการศึกษาจะพัฒนาในลักษณะผสมผสาน (มิกซ์ยูส) มีทั้งห้างสรรพสินค้า และโรงแรม

ส่วนแปลง E ก่อนหน้านี้ ร.ฟ.ท.ศึกษาจะพัฒนาบนพื้นที่ประมาณ 128 ไร่ มูลค่าการลงทุนประมาณ 4,500 ล้านบาท โดยจะพัฒนาในรูปแบบมิกซ์ยูส เป็นศูนย์กลางธุรกิจครบวงจร มีทั้งอาคารสำนักงาน โรงแรม และพื้นที่การค้าปลีก เป็นต้น

สำหรับปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ได้ปรับเปลี่ยนขบวนรถโดยสารเชิงพาณิชย์มาให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์  ด้วยขบวนรถไฟทางไกลรวม 52 ขบวน แบ่งเป็น รถไฟสายเหนือ 14 ขบวน รถไฟสายใต้ 20 ขบวน และรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ 18 ขบวน ซึ่งจะช่วยลดความแออัดของสถานีหัวลำโพงไปได้ราว 50% และคาดการณ์ว่า ภายหลังการเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกล จะส่งผลให้มีผู้ใช้บริการสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เพิ่มขึ้นอีก 1 หมื่นคนต่อวัน จากก่อนหน้านี้ที่มีให้บริการเฉพาะรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยมีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยราว 1 หมื่นคนต่อวัน

ทั้งนี้ กระทรวงฯ มีมาตรการรองรับและมีความพร้อมในการให้บริการแก่ผู้โดยสารรถไฟทางไกล ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทั้งป้ายบอกทาง จุดพักคอยผู้โดยสาร รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดรถโดยสารปรับอากาศให้บริการเส้นทางระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และสถานีหัวลำโพง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมีความถี่ทุก ๆ 30 นาที หรือตามจำนวนเที่ยวที่ขบวนรถไฟมาถึงสถานี และการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ โดยเฉพาะรถไฟชานเมืองสายสีแดง