3 ประเด็นสำคัญ หลังประชุม “ขุนคลังสหรัฐ-รองนายกฯจีน”

3 ประเด็นสำคัญ หลังประชุม “ขุนคลังสหรัฐ-รองนายกฯจีน”

เปิด 3 ประเด็นสำคัญ หลังการประชุมระหว่าง “เจเน็ต เยลเลน” รมว.คลังสหรัฐ กับ “หลิว เหอ” รองนายกรัฐมนตรีจีน ในช่วงความสัมพันธ์อันตึงเครียดของ 2 เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลก

ท่ามกลางความขัดแย้งสงครามเทคโนโลยีและกรณีไต้หวันระหว่างสหรัฐกับจีน เมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ ได้พบปะกับ หลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีนในนครซูริก สวิตเซอร์แลนด์ ทั้งสองมีการแลกเปลี่ยนหารือกันถึงประเด็นเศรษฐกิจและความตึงเครียดที่ผ่านมา กรุงเทพธุรกิจจะสรุปให้อ่าน 3 ประเด็นสำคัญที่ได้จากการประชุมครั้งนี้

1. การสื่อสารที่มากขึ้นเป็นสิ่งสำคัญ

ทั้งหลิว เหอและเยลเลนตกลงร่วมกันว่า จีนกับสหรัฐจะมีการพูดคุยกันมากขึ้น เพื่อลดความขัดแย้ง เพิ่มความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยเยลเลนได้กล่าวในที่ประชุมว่า “แม้พวกเราจะมีความเห็นต่างกันในหลายส่วน พวกเราจะสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา จะไม่ให้ความเข้าใจผิดมาบั่นทอนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเงินนี้”

2. จีนกังวลถึงนโยบายปิดกั้นเทคจีนของสหรัฐ

หลิว เหอแสดงความกังวลต่อเยลเลนถึงกรณีสหรัฐพยายามปิดกั้นจีนในเรื่องเทคโนโลยี โดยชี้ให้สหรัฐเห็นว่า เมื่อมองไปที่ภาพใหญ่และระยะยาว การร่วมมือด้วยกันจะเป็นประโยชน์มากกว่า ทางเยลเลนก็รับฟังและพร้อมนำไปพิจารณา

3. วิกฤติโลกร้อน แก้ไขฝ่ายเดียวไม่ได้

ทั้งจีนและสหรัฐเห็นร่วมกันว่า วิกฤติโลกร้อนขณะนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งสองฝ่าย เพราะปัญหาสภาพแวดล้อมของประเทศหนึ่งย่อมส่งผลไกลไปถึงอีกฟากหนึ่งของทวีปได้ ดังนั้นภาวะโลกร้อนจึงต้องสามัคคีร่วมกัน

ทั้ง 2 ฝ่ายต่างรับฟังข้อกังวล และข้อเสนอแนะร่วมกัน พร้อมจะนำมาปรับในนโยบายต่างประเทศให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งหลังการพูดคุยดังกล่าว ทางเยลเลนเกิดความเป็นมิตรต่อจีนมากยิ่งขึ้น และหวังที่จะเยือนจีนในอนาคตอันใกล้ ในขณะที่ฝั่งหลิว เหอ ก็ยินดีต้อนรับ

ทั้งนี้ เยลเลนมีแผนที่จะเยือน 3 ประเทศในแอฟริกาต่อ ซึ่งก็คือ เซเนกัล แซมเบีย และแอฟริกาใต้หลังการประชุมที่ดาวอสนี้เสร็จสิ้น โดยประเทศในแอฟริกาเหล่านี้มีความสัมพันธ์อันดีกับจีนมาตลอด การให้ความสำคัญกับทวีปแอฟริกาของสหรัฐช่วงล่าสุดนี้ จะช่วยดึงประเทศเหล่านี้ให้ลดการเข้าหาจีนได้ ซึ่งในที่ประชุมดาวอส เยลเลนยังเสนอให้หลิว เหอ ช่วยเจรจาผ่อนผันหนี้ที่ปล่อยกู้แอฟริกาใหม่อีกครั้ง สะท้อนความต้องการได้คะแนนนิยมในแอฟริกาของสหรัฐด้วย

อ้างอิง: reutersbloomberg