'หนี้ครัวเรือน' ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย

ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย หากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเป็นระเบิดเวลาที่อาจปะทุขึ้นจนกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ระบุ ปัญหาหนี้สินครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศมาเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยเฉพาะช่วงวิกฤติโควิด และซ้ำเติมด้วยปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศรัสเซีย และยูเครนเป็น 2 วิกฤติที่ส่งผลกระทบมากขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจของไทย ซึ่งปัจจุบันหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นมากถึง 88-89% ของ GDP ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก

เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ดนุชา พิชยนันท์ ระบุ จากข้อมูลเครดิตบูโรในไตรมาสสอง ปี 2565 พบว่าหนี้เสียขยายตัวในระดับสูง ในกลุ่มลูกหนี้อายุตั้งแต่ 41 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มสูงอายุ และลูกหนี้ NPLs จากผลกระทบของ COVID-19 ซึ่งการช่วยเหลือโดยการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับกลุ่มดังกล่าวจะมีข้อจำกัดเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มในการหารายได้ลดลง และเป็นช่วงอายุที่อาจมีภาระหลักในการดูแลค่าใช้จ่ายของครัวเรือน 

นอกจากนี้พบว่า ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียที่เกิดจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสสอง ปี 2565 มีจำนวนบัญชีที่เป็นหนี้เสีย 4.3 ล้านบัญชี คิดเป็นสัดส่วน 44.4% ของบัญชีลูกหนี้ NPLs ทั้งหมดในฐานข้อมูลหนี้ครัวเรือนของเครดิตบูโร และคิดเป็นมูลค่าสูงถึงเกือบ 4 แสนล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าแม้สถานการณ์การระบาดจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ผลกระทบที่เกิดกับลูกหนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมายังมีต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือน ได้แก่ ภาระค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมีแนวโน้มก่อหนี้เพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนเพิ่มขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้น ประเด็นที่ต้องติดตาม และให้ความสำคัญคือ การเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อยานยนต์ กลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เสียเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 การมีมาตรการสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น และการมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับประชาชน

 

ทีมข่าวเนชั่นทีวี รายงาน

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์