'อัยการ' ไฟเขียวร่างสัญญารถไฟฟ้าสายสีส้ม เร่งเสนอบอร์ด รฟม.มกราคมนี้

'อัยการ' ไฟเขียวร่างสัญญารถไฟฟ้าสายสีส้ม เร่งเสนอบอร์ด รฟม.มกราคมนี้

รฟม.เผยคืบหน้าร่างสัญญาสายสีส้ม อัยการสูงสุดไฟเขียว จับตาเสนอบอร์ดสิ้นเดือน ม.ค.นี้ ด้านบอร์ดกำชับเร่งจัดหาขบวนรถ หวั่นกระทบบริการประชาชน

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยระบุว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ปัจจุบัน รฟม.อยู่ระหว่างจัดทำร่างสัญญา ซึ่งตามขั้นตอนหากสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบแล้วเสร็จ จะต้องมีการรายงานมายังบอร์ด รฟม.พิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้บอร์ดได้มีนโยบายด้วยว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ รฟม.ต้องดำเนินการ เพราะโครงการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนนี้ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 อีกทั้งปัจจุบันโครงการก่อสร้างงานโยธาฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 98%

 

ดังนั้น ต้องเร่งดำเนินการเพื่อไม่ให้กระทบต่อการเปิดเดินรถ เพราะสัญญาเดินรถจัดรวมอยู่ในสัญญาร่วมลงทุนที่อยู่ระหว่างพิจารณาด้วย โดยเบื้องต้นทราบว่าหากมีการลงนามสัญญากับเอกชนแล้ว จะมีการทยอยจัดหาขบวนรถมาให้บริการส่วนตะวันออกโดยเร็วที่สุด คาดว่าจะใช้เวลา 2 ปี สอดคล้องกับเป้าหมายเปิดให้บริการเส้นทางนี้ในปี 2568

"เรื่องนี้บอร์ดเรามีนโยบายให้เร่งอยู่แล้ว เป็นเรื่องด่วนที่ต้องทำเพื่อไม่ให้กระทบบริการประชาชน โดยเฉพาะการเปิดเดินรถฝั่งตะวันออก แต่เรื่องนี้แม้จะเร่งด่วนก็ต้องทำให้โปร่งใส รอบคอบ ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีนโยบายว่าให้รอผลการพิจารณาตามกระบวนการศาลปกครองด้วย ซึ่งหากร่างสัญญาแล้วเสร็จ รฟม.ก็ต้องส่งเรื่องนี้ไปยังกระทรวงฯ เพื่อพิจารณาต่อ และตัดสินใจในการดำเนินการ ซึ่งเบื้องต้นจะมีการประชุมบอร์ด รฟม.ในสิ้นเดือน ม.ค.นี้ ก็ต้องรอดูว่าจะมีการรายงานความคืบหน้าในเรื่องนี้หรือไม่"

รายงานข่าวจาก รฟม.เผยว่า ภายหลัง รฟม.คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินสูงสุด ขณะนี้ รฟม.ได้จัดทำร่างสัญญา พร้อมส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบ ซึ่งดำเนินการตรวจสอบและส่งกลับมายัง รฟม.เรียบร้อยแล้ว โดยขั้นตอนหลังจากนี้ รฟม.เตรียมรายงานร่างสัญญาดังกล่าวไปยังบอร์ด รฟม. และกระทรวงคมนาคมพิจารณา

ก่อนเสนอไปยัง ครม.พิจารณาอนุมัติ เพื่อดำเนินการลงนามสัญญาร่วมกับเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านประเมินสูงสุด เบื้องต้นไม่สามารถบอกได้ว่าจะลงนามตอบกรอบกำหนดในเดือน ม.ค.นี้หรือไม่ เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็มีนโยบายให้รอผลการตัดสินตามกระบวนการยุติธรรมของ ศาลปกครอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ 1.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี)

และส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) ก่อนหน้านี้ รฟม. วางแผนเบื้องต้นจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก เดือน ส.ค.2568 ขณะที่ส่วนตะวันตก เปิดบริการเดือน ธ.ค.2570