Disruptive Technology กับอนาคตของอุตสาหกรรมยาระดับโลก

Disruptive Technology กับอนาคตของอุตสาหกรรมยาระดับโลก

อุตสาหกรรมยา (Pharmaceutical Industry)ซึ่งขับเคลื่อนโดยพื้นฐานองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (Science-based industries: SBIs) ที่มีความจำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาอย่างเข้มข้น (R&D intensity) และมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง (Innovative and advanced technology)

ประเด็นที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ (Landscape) ของอุตสาหกรรมยาในอนาคต คือการได้รับอิทธิผลของกระแสของเทคโนโลยีป่วนโลก (Disruptive Technology) ซึ่งอนาคตของอุตสาหกรรมยากำลังมุ่งไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติอัจฉริยะ (Intelligent Automation Technology) โดยการพัฒนายารักษาโรคยุคใหม่ เป็นการผสมผสานระหว่างทักษะทางด้านอุตสาหกรรมสมัยใหม่และนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data science) ที่จะต้องตอบสนองต่อแนวทางการรักษาแบบใหม่

Disruptive Technology กับอนาคตของอุตสาหกรรมยาระดับโลก

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แนวคิดการพัฒนายารูปแบบใหม่ได้อาศัยฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ที่ประกอบไปด้วยฐานข้อมูลสุขภาพ รวมถึงฐานข้อมูลทางพันธุกรรมอย่างครบถ้วน ซึ่งนักวิจัยสามารถใช้ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ช่วยให้วิเคราะห์ข้อมูลในการหาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biomarkers) ที่ช่วยทำนายหรือแม้กระทั่งรักษาโรคย่อยบางชนิดแบบจำเพาะเจาะจงได้

นั่นคือ แนวทางการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงจากการผลิตจำนวนมาก (Mass production) มุ่งสู่แนวทางการผลิตที่มีความจำเพาะเจาะจงยิ่งขึ้น (Mass customization) และการใช้ยาที่แม่นยำผ่านรหัสพันธุกรรม (Precision Medicine through Pharmacogenomics) กล่าวคือ การพัฒนายาและแนวทางการรักษาปรับจากแนวคิด One-size-fits all medicine ไปสู่การแพทย์แม่นยำ (Precision medicine) ที่มีแนวทางการรักษาและการใช้ยาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยที่มีลักษณะจำเพาะในแต่ละบุคคล (Personalised medicine)  

 

นอกจากนี้ การพัฒนาในอนาคตได้มีการผนวกเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับการรักษา และศึกษาผลิตภัณฑ์ยาด้วยระบบที่เรียกว่า “Digital Health Technology” ตัวอย่างเช่น การพัฒนายาดิจิตอล (Digital pills) ที่มีการฝัง Microchip หรือ ระบบ Sensor เข้าไปในตัวยา เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อสื่อสารผ่าน External  devices เช่น แอฟพลิเคชันบนสมารท์โฟน ช่วยแก้ปัญหาอาการหลงลืมรับประทานยาในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ (Alzheimer) หรือการมอร์นิเตอร์การรับประทานยาของผู้ป่วยโดยแพทย์ ในกรณีผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิต (Mental health) เพื่อแก้ปัญหาหลงลืมรับประทานยาหรือการใช้ยาเกินขนาด เป็นต้น

สำหรับแนวทางการพัฒนายาของอุตสาหกรรมยาในอนาคต AI และ Machine learning จะมีบทบาทมากขึ้นในกระบวนการพัฒนายา (Drug development process) ตลอดจนการผลิตและการบริหารจัดการ ที่สามารถร่นระยะเวลาในการวิเคราะห์สารและองค์ประกอบทางเคมีที่เหมาะสม รวมถึงคาดการณ์สารประกอบเหล่านั้นถึงศักยภาพที่จะพัฒนายาให้มีประสิทธิผลในการรักษาและมีความปลอดภัย นั่นหมายถึงเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยลดต้นทุนลงมหาศาลในการพัฒนายาในอนาคต

 

นวัตกรรมแห่งโลกอนาคตเหล่านี้กำลังจะเข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมยาระดับโลก บริการทางการแพทย์ สภาพแวดล้อมการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข นวัตกรรมการรักษารูปแบบใหม่

รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพในการรักษา อย่างไรก็ตาม กระบวนทัศน์ในการรักษาโรคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การพัฒนายาในอนาคตมีเป้าหมายเพื่อให้การออกฤทธิ์ของที่มีศักยภาพ มีความแม่นยำและจำเพาะเจาะจง รวมถึงมีต้นทุนการผลิตที่ลดลงเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงยาและการรักษา

                                                                                ดร.ลอยลม ประเสริฐศรี

                                                                                ICRC เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์