อุตฯ ปี 66 เผชิญ3ปัจจัยเสี่ยง ค่าแรง-ค่าไฟ-อียูเก็บภาษีคาร์บอน

อุตฯ ปี 66 เผชิญ3ปัจจัยเสี่ยง  ค่าแรง-ค่าไฟ-อียูเก็บภาษีคาร์บอน

สำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ออกมาคาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2566 ขยายตัว 2.5-3.5% ส่วนจีดีพีภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 2.5-3.5% รวมทั้งปรับประมาณการดัชนี MPI ทั้งปี 2565 ลดลงจากที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 1.9% มาอยู่ที่ 1.0% ส่วนจีดีพีภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 2%

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังและติดตาม 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ราคาพลังงานที่ทรงตัวในระดับสูง แนวโน้มการปรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.ปีหน้า 2.การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 3.มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนยังส่งผลต่อภาคการส่งออก และทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 จะขยายตัวได้ดีขึ้นจากปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์คลี่คลาย ทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องสามารถกลับมาเร่งการผลิตได้อีกครั้ง โดยแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางบวก จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ และการเปิดประเทศของจีน

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ย.2565 อยู่ที่ 95.11 ขยายตัว 1.55% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน หดตัว 5.60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ของโรงงานในอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมและอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก ซึ่งจะกลับมาผลิตเป็นปกติในเดือน ธ.ค.2565

ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน พ.ย. 2565 อยู่ที่ 62.63% สำหรับภาพรวมดัชนี MPI สะสม 11 เดือนของปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 98.68 ขยายตัว 1.41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิต สะสม 11 เดือน เฉลี่ยอยู่ที่ 63.02% เป็นผลจากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ปัญหาข้อจำกัดในการผลิตได้คลี่คลายลง อาทิ ค่าระวางเรือมีทิศทางลดลง รวมถึงปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้คาดว่าดัชนีอุตสาหกรรมจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2566

วรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมหลักที่ขยายตัวในเดือน พ.ย.2565 ประกอบด้วย ยานยนต์ จากรถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถยนต์นั่งขนาดกลาง ที่สามารถผลิตได้ต่อเนื่อง น้ำมันปาล์มจากน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ หลังจากราคาปาล์มน้ำมันในปีก่อนปรับสูงขึ้น จึงเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรมีการบำรุงต้นและลูกปาล์ม ส่งผลให้ปีนี้ปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดจำนวนมากกว่าปีก่อน และเครื่องปรับอากาศที่กลับมาเร่งผลิตได้อีกครั้ง

ขณะที่ในเดือน ธ.ค.2565 คาดว่าดัชนี MPI จะหดตัวต่อเนื่องจากอุปสงค์สินค้าในตลาดโลกที่ชะลอตัว ด้วยตลาดส่งออกสำคัญมีแนวโน้มจะเข้าสู่เศรษฐกิจถดถอยจากภาวะเงินเฟ้อและราคาพลังงาน

“ทั้งนี้ สศอ.ประเมินผลกระทบหากมีการปรับขึ้นค่าไฟเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 เป็น 5.69 บาทต่อหน่วย จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.70 บาท โดยอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ เหล็ก ซีเมนต์ สิ่งทอ คอนกรีต เซรามิค และเมื่อเทียบอัตราค่าไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ไทยจะมีค่าไฟฟ้าสูงเป็นอันดับ 3 รองจาก สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ซึ่งจะส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยลดลง”

สำหรับสัญญาณการเตือนภัยทางเศรษฐกิจในช่วงเดือน ธ.ค.2565-พ.ค.2566 ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง โดยมีประเด็นที่ต้องติดตาม ประกอบด้วย เรื่องต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น การปรับขึ้นค่าไฟ ความผันผวนของค่าเงินบาท และภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งจะทำให้สินค้าฟุ่มเฟือยได้รับผลกระทบ รวมทั้งการลงทุนในสินค้าทุน

อุตฯ ปี 66 เผชิญ3ปัจจัยเสี่ยง  ค่าแรง-ค่าไฟ-อียูเก็บภาษีคาร์บอน

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตในเดือน พ.ย.2565 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.95% จากรถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถยนต์นั่งขนาดกลาง เป็นหลัก จากการเร่งผลิตหลังได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้น ประกอบกับมีการผลิตเพื่อสต๊อกสินค้าไว้เพื่อจำหน่ายในช่วงปลายปี

น้ำมันปาล์ม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 32.47% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เป็นหลัก เนื่องจากในปีก่อนราคาจำหน่ายของปาล์มน้ำมันสูง จึงเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรมีการบำรุงต้นและลูกปาล์ม ส่งผลให้ปีนี้ปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดจำนวนมากกว่าปีก่อน

เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.57% จากการส่งออกที่ขยายตัว โดยได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากประเทศญี่ปุ่น สหรัฐ ยุโรป และฟิลิปปินส์ รวมถึงการเร่งผลิตและส่งมอบสินค้าหลังจากช่วงก่อนหน้ามีปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วน

เบียร์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.95% จากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว สถานบันเทิงและร้านอาหารเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบมากกว่าปีก่อนที่ยังมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.08% จากผลิตภัณฑ์ วงจรรวม และแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นหลัก ตามความต้องการของตลาดโลกที่ยังคงมีอยู่ ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวหลังเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณการเติบโตน้อยลง