ส่องแผนพัฒนา ‘กัญชง’เชิงพาณิชย์ ดันไทยฮับผลิตอาเซียนภายในปี 70

ส่องแผนพัฒนา ‘กัญชง’เชิงพาณิชย์  ดันไทยฮับผลิตอาเซียนภายในปี 70

ครม.เห็นชอบ แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ (พ.ศ. 2566-2570) และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ เพื่อเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการผลิตกัญชงของอาเซียนในปี 2570

“กัญชง” (Hemp) เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากหลังจากรัฐบาลประกาศปลดล็อคให้สามารถขออนุญาตปลูก ผลิต นำเข้าเมล็ดพันธุ์ ครอบครอง และจำหน่ายได้ ด้วยคุณประโยชน์ที่หลากหลายประกอบกับความต้องการในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเปิดกว้างมากยิ่งขึ้นทำให้กัญชงมีศักยภาพที่จะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของไทย สามารถต่อยอดเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มหาศาล การที่ไทยมีความสามารถด้านการเพาะปลูกและการผลิตสูง จึงมีโอกาสที่จะกลายเป็นผู้เล่นหน้าใหม่และสามารถเกาะเกี่ยวการเติบโตในตลาดกัญชงโลกได้

 

จากข้อมูลของวิจัยกรุงศรี หน่วยงานวิจัยเศรษฐกิจและหลักทรัพย์ บลจ.กรุงศรีอยุธยา  กล่าวว่าการปลดล็อคการประกอบธุรกิจกัญชงได้เชื่อมโยงไปสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมอย่างน้อย 5 กลุ่ม ได้แก่ เครื่องดื่ม อาหาร ยาและอาหารเสริม เครื่องแต่งกาย และผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล มูลค่าตลาดกัญชงทั่วโลกโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 1.58 หมื่นล้านบาท ใน 5 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม เกษตรกร และผู้ประกอบการยังคงเผชิญความท้าทายหลายด้าน เช่น การพัฒนาสายพันธุ์กัญชงให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ความชัดเจนของกฎหมายในการรับรองเพื่อประกอบธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งต้องมีการทำแผนรองรับการพัฒนาให้กัญชงที่ปลูกในไทยสามารถเติบโตเชิงพาณิชย์ สามารถเพิ่มมูลค่าทางอุตสาหกรรมได้มากขึ้นในอนาคต

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.เห็นชอบ ผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ครั้งที่ 1/2565 ในส่วนของ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ (พ.ศ. 2566-2570) และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

โดยแผนดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ การกำหนดเป้าหมายเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางพืชกัญชงเชิงอุตสาหกรรมแห่งอาเซียนภายใน 5 ปี มีแนวทางดำเนินงาน 4 มาตรการหลัก ได้แก่

1. สนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ตลอดห่วงโซ่กัญชง โดยยกระดับนวัตกรรมอุตสาหกรรมกัญชงสู่การต่อยอดการผลิตเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรมผ่านการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีให้รองรับในระดับอุตสาหกรรม การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม และการส่งเสริมนวัตกรรมและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา

2. ส่งเสริมการผลิตและแปรรูปเชิงพาณิชย์ โดยยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกัญชงให้มีความพร้อมด้านทักษะ องค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อต่อยอดสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตผลิตภัณฑ์กัญชงในระดับสากล เช่น การเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร การสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ และการส่งเสริมการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากล

 3. ส่งเสริมด้านการตลาด โดยสร้างโอกาสทางธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศผ่านช่องทางที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกัญชงไทยได้แสดงศักยภาพและเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กัญชงที่สำคัญในระดับโลก เช่น การสร้างช่องทางการตลาดผ่านการจัดงานแสดงสินค้า/การจัดประชุมเกี่ยวกับพืชกัญชง การพัฒนาเชื่อมโยงโลจิสติกส์ และการกระตุ้นอุปสงค์ของหน่วยงานภาครัฐ

และ 4.สร้างปัจจัยสนับสนุนให้เอื้อต่อการประกอบการ โดยลดปัญหาอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ เช่น การพัฒนาและปรับปรุงกฎหมาย/กฎระเบียบ การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสู่สากล การสนับสนุนทางการเงิน/การร่วมลงทุนภาคเอกชน การอำนวยความสะดวกด้านการตรวจรับรองสารสำคัญและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงฯ ให้บรรลุเป้าหมายจะต้องบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยใช้งบประมาณประจำปีภายใต้งบบูรณาการและงบประมาณตามยุทธศาสตร์ของแต่ละหน่วยงาน และมี กอช. และคณะกรรมการขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์เป็นกลไกในการขับเคลื่อนและกำกับติดตามการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงฯ

สำหรับข้อสั่งการเพิ่มเติมของ กอช.ได้ให้มีการพิจารณาโครงการสำคัญที่สามารถตอบสนองตัวชี้วัดเพื่อประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 บูรณาการการทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และการผลักดันเรื่องการพัฒนาพืชกัญชงในประเด็นสำคัญ เช่น การพัฒนาเส้นใยจากพืชกัญชง การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดแคนนาบิไดออล (Cannabidiol: CBD) จากพืชกัญชงเข้าสู่การพิจารณาในระดับนโยบายเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนการปลูกพืชและสามารถสร้างมูลค่าจากพืชกัญชงได้เพิ่มขึ้นในอนาคต