"บอร์ดอีอีซี" เคาะชื่อ "จุฬา สุขมานพ" นั่งเลขาธิการคนใหม่รับภารกิจดึงลงทุน

"บอร์ดอีอีซี" เคาะชื่อ "จุฬา สุขมานพ" นั่งเลขาธิการคนใหม่รับภารกิจดึงลงทุน

"บอร์ดอีอีซี"เคาะชื่อ "จุฬา สุขมานพ" นั่งเลขาธิการอีอีซีคนใหม่ เข้าสู่กระบวนการเจรจาค่าตอบแทนและสัญญา ก่อนให้นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานบอร์ดลงนามอนุมัติอีกครั้ง "สุพัฒนพงษ์"เตรียมเรียกเลขาฯคนใหม่หารือขับเคลื่อนอีอีซีต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 5/2565 วันพุธที่ 28 ธันวาคม 2565 ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ กพอ. เป็นประธาน ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมวาระลับเพื่อพิจารณาชื่อเลขาธิการอีอีซีคนใหม่ แทนนายคณิศ แสงสุพรรณ ที่หมดวาระไปตั้งแต่ 17 ส.ค.โดยการประชุมวาระลับนี้เลขานุการในที่ประชุมได้เชิญผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากที่ประชุมทั้งหมด เหลือเพียงประธานในที่ประชุม และกรรมการของ กพอ.ตามรายชื่อที่กำหนดเท่านั้น 

ภายหลังการประชุมวาระลับที่ใช้เวลากว่า 45 นาที นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยว่าที่ประชุม กพอ.ได้เห็นชอบให้นายจุฬา สุขมานพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคนใหม่ตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ ทั้งนี้ตนจะรีบนัดหมายเลขาฯคนใหม่มาหารือกันเพราะมีงานหลายอย่างของอีอีซีที่จะต้องขับเคลื่อน และเลขาฯคนใหม่ถือว่ามีความรู้ความสามารถที่จะขับเคลื่อนงานด้านนี้

 

นางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการอีอีซี กล่าวว่าสำหรับผลการคัดเลือก เลขาธิการ อีอีซี คนใหม่  ที่ประชุม กพอ. มีมติเห็นให้แต่งตั้ง นายจุฬา เป็นเลขาธิการอีอีซีคนใหม่ โดยหลังจากนี้ จะเข้ากระบวนเจรจาค่าตอบแทน และสัญญารวมทั้งรับทราบภารกิจเพิ่มเติมที่ที่ประชุม กพอ.ในวันนี้ได้มีการมอบหมายเพิ่มเติม เมื่อเจรจาเสร็จแล้ว ก็จะเสนอให้นายกรัฐมนตรี ลงนามในสัญญาตามขั้นตอนต่อไป

สำหรับ นายจุฬาว่าที่เลขาฯอีอีซีคนใหม่ ปัจจุบันอายุ 57 ปี จบการศึกษาปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปริญญาโท Master of Laws (Maritime Law) University of Southampton, United Kingdom และปริญญาเอก Doctor of Philosophy, University of Southampton, United Kingdom

นายจุฬามีบทบาทสำคัญๆในการช่วยรัฐบาลแก้ปัญหาสำคัญหลายเรื่อง ได้แก่ การแก้ปัญหาข้อบกพร่องที่มีนัยยะสำคัญต่อความปลอดภัยทางด้านการบิน 33 ข้อจนสำเร็จ ก่อนที่ ICAO จะดำเนินการปลดธงแดงให้กับไทยในวันที่ 6 ต.ค. 2560 การแก้ปัญหามาตรฐานการบินของไทย ผ่านเกณฑ์ข้อกำหนดสำนักงานการบินพลเรือนแห่งสหภาพยุโรป (EASA) การแก้ปัญหาการบินของไทยหลังสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (FAA) ลดระดับมาตรฐานการบินไทย โดยการจัดโครงสร้างหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบิน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU Fishing ในช่วงที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงได้รับความไว้วางใจในการทำงานจาก พล.อ.ประยุทธ์ และนายอาคมเป็นอย่างดีเนื่องจากช่วยแก้ปัญหาสำคัญๆของประเทศมาก่อน

ส่วน ตำแหน่งสำคัญๆก่อนหน้าที่จะเป็นผู้ตรวจราชการ ได้แก่

ต.ค.2559 – ก.ย.2563 : ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

ต.ค.2558 - ก.ย.2559 : อธิบดีกรมท่าอากาศยาน

ก.ค. 2557 - ก.ย. 2558 : อธิบดีกรมเจ้าท่า

ก.ค. 2555 – ก.ค. 2557 : ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)

พ.ย. 2553 – ก.ค. 2555 : ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม

ม.ค. 2552 – ต.ค. 2553 : รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร

เม.ย. 2549 – ม.ค. 2552 : ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและแผนปฏิบัติหน้าที่หัวหน้ากลุ่มพัฒนาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และหัวหน้ากลุ่มพัฒนาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ

ต.ค. 2547 – มี.ค. 2549 : ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศการขนส่งและจราจรสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร

พ.ย. 2545 – ก.ย. 2547 : ผู้อำนวนการกองพัฒนาระบบการขนส่งและจราจรสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร