ลุ้น กกพ. ลดค่าเอฟทีภาคธุรกิจ 40 สตางค์

กกพ.นัดสรุปค่าเอฟทีวันนี้ ลุ้นช่วยภาคธุรกิจลดค่าไฟลง 40 สตางค์ ส.อ.ท.ผิดหวังความช่วยเหลือ ชี้รัฐไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เมินข้อเสนอเอกชนให้หาทางช่วยสภาพคล่อง กฟผ. เผย รมว.พลังงานไร้เสียงตอบรับช่วยเอกชน

วันนี้28 ธ.ค.2565 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปรรอบใหม่ให้กับภาคธุรกิจถูกลงหน่วยละ 40 สตางค์ จากเดิมที่มติเดิมพิจารณาที่หน่วยละ 190.44 สตางค์ คิดเป็นค่าไฟฟ้าหน่วยละ 5.69 บาท
สำหรับการพิจารณาดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยการลงทุน 40 สตางค์ แบ่งเป็น 2 ส่วนในอัตราส่วนละ 20 สตางค์ คือ 
1.การปรับลดราคาก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รวมทั้งค่าน้ำมันดีเซลที่ใช้ผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 
2.ปรับการจ่ายหนี้สะสมของ กฟผ.จากเดิมต้องจ่ายให้ กฟผ.หน่วยละ 33 สตางค์ ซึ่งจะพิจารณาว่า กฟผ.จะรับจ่ายหนี้คืนลดลงเท่าไร เช่น รับคืนก่อน 16-20 สตางค์

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังมากกับข้อเสนอที่จะมีการพิจารณาครั้งนี้ แต่ถึงจะปรับค่าไฟลง ส.อ.ท.มองว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นทาง 
ทั้งนี้ เท่าที่ดูจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการมายังนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้ปรับลดค่าไฟฟ้าลงนั้น กระทรวงพลังงานยังคงใช้เครื่องมือเดิม คือ การยกภาระให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นตัวหลักในการจัดทำตัวเลขใหม่ 
“เอกชนพยายามดูประเด็นว่าสิ่งที่ต้องทำจะต้องอย่างไรมากกว่า เพราะการแก้ปัญหายังเป็นวิธีเดิม ดังนั้น เราจึงยืนยันให้แก้ที่ต้นเหตุตาม 5 ข้อที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอ เช่น ค่าความพร้อมจ่าย หรือ AP ของโรงไฟฟ้าเอกชนควรปรับลงบ้าง ซึ่งไม่พูดถึงประเด็นนี้เลยทั้งที่ภาครัฐมีเครื่องมือ ทั้งนโยบาย กฎหมายและการกำกับดูแล แต่เลือกสั่งเฉพาะ กฟผ.เพราะอยู่ภายใต้กำกับ จนไม่สามารถแบกรับภาระไหวแล้ว”

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาโดยโยกก๊าซที่ถูกไปตรึงภาคครัวเรือนก็ควรหางบประมาณจากตรงอื่นมาช่วย โดยไม่ควรให้เฉพาะ ปตท.มาช่วยเหลือในงบประมาณ 6,000 ล้านบาท และโยกภาระก๊าซที่แพงมาให้เอกชน ซึ่งสุดท้ายจะผลักภาระให้ประชาชนอยู่ดี 
ส่วนการปรับโรงงานมาใช้น้ำมันเตาผลิตไฟฟ้าแทนการใช้ก๊าซ LNG นั้น กลุ่มโรงงานเมื่อเลิกใช้น้ำมันเตาก็มีการรื้อถังทิ้งมาเปลี่ยนเป็นท่อเพื่อใช้แก๊สแทน ซึ่งตอนนี้หลายโรงงานเริ่มกลับมาใช้น้ำมันเตาจะต้องหาถังมาใส่ใหม่ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนและเวลาปรับเปลี่ยน แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนการเดินท่อน้ำประปา 
นอกจากนี้ เมื่อก๊าซในอ่าวไทยลดลงและนำเข้า LNG ในราคาแพง ดังนั้น วิธีแก้คือต้องลดการนำเข้า และให้ภาคธุรกิจช่วยกันประหยัด ซึ่งโรงงานที่ปรับตัวได้ก็ทำมาตลอด ซึ่งกระทรวงพลังงานควรเน้นการหาเงินเข้าประเทศไม่ใช่มาควบคุมปริมาณการใช้พลังงานของโรงงาน 
นอกจากนี้ กรณีนายสุพัฒนพงษ์ ระบุให้เอกชนเข้ามาหารือนั้น ยืนยันว่าได้ทำหนังสือไปหากระทรวงพลังงาน 4-5 ฉบับ แต่ไม่เคยเปิดช่องให้หารือเลย ทั้งที่เป็นรองนายกฯ ดูแลเศรษฐกิจจึงควรหารือหลายกระทรวงเพื่อแก้ปัญหา เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมในการปลดล็อกขอใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) สำหรับการติดตั้งโซลาร์รูฟเพื่อช่วยภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยควรใช้กลไกการทำงานร่วมกับกระทรวงพลังงาน แต่หากดำเนินการไม่ไหวควรเสนอขอใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่งการ