มรสุม "เศรษฐกิจโลก" ยังแรง ไทยต้องระวัง แม้เริ่มมีข่าวดี

มรสุม "เศรษฐกิจโลก" ยังแรง ไทยต้องระวัง แม้เริ่มมีข่าวดี

แม้ "เศรษฐกิจไทย" จะเริ่มมีความหวังจากการผ่อนคลายมาตรการโควิดของจีน แต่เราต้องไม่ลืมว่า "เศรษฐกิจโลก" ในปีหน้ายังมีมรสุมลูกใหญ่รออยู่ โดยเฉพาะความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ "เศรษฐกิจถดถอย"

นับเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทยหลังจากที่ คณะกรรมาธิการด้านสุขภาพแห่งชาติของจีน (National Health Commission : NHC) ได้ออกแถลงการณ์เมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยประกาศยกเลิกมาตรการกักตัวผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2023 หลังจากที่มีการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวมานานกว่า 3 ปี เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน เศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทยด้วย 

นอกจากนี้ทางการจีนยังได้ผ่อนคลายระดับการจัดการกับโรคโควิดจากระดับสูงสุดมาเป็นระดับรองสูงสุด เรียกได้ว่าเป็นการปิดฉากนโยบาย ‘ซีโร่โควิด’ แบบเต็มตัว ซึ่งการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศของจีน ไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจจีนเท่านั้น ยังส่งผลบวกไปยังอีกหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย

ที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่า การฟื้นตัวอย่างล่าช้าของเศรษฐกิจไทย ส่วนหนึ่งเพราะการท่องเที่ยวยังคงซบเซา ขณะที่ผู้ประกอบการต่างรอความหวังจากนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดในช่วงก่อนโควิด ดังนั้นการผ่อนคลายของจีนในครั้งนี้ จึงปลุกความหวังเศรษฐกิจไทยขึ้นมาทันที

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจไทยจะเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังจากมาตรการควบคุมโควิดของจีนที่เริ่มผ่อนคลายลง แต่เราต้องไม่ลืมว่า เศรษฐกิจโลกในปีหน้ายังมี ‘มรสุมลูกใหญ่’ รออยู่ โดยเฉพาะจากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่อาจเผชิญกับภาวะถดถอย (Recession) ซึ่งถ้าดูข้อมูลผลสำรวจของ Bloomberg ที่เก็บข้อมูลล่าสุดในเดือน ธ.ค. 2565 พบว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงสูงถึง 70% ที่จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้า ขณะที่ ยุโรป มีความเสี่ยงเผชิญภาวะถดถอยสูงถึง 80% 

ปัจจุบัน สหรัฐ มีขนาดเศรษฐกิจต่อจีดีพีโลกสูงราว 25% ส่วน ยุโรป มีสัดส่วนต่อจีดีพีโลกราว 10% ซึ่งหมายความว่า เศรษฐกิจของ 2 กลุ่มประเทศนี้ มีขนาดใหญ่รวมกันราว 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก

หากทั้งคู่เผชิญกับภาวะถดถอยในเวลาใกล้เคียงกัน ย่อมหนีไม่พ้นที่เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับภาวะถดถอยตามไปด้วย และสัญญาณของภาวะถดถอยเหล่านี้เริ่มแสดงให้เห็นเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ โดยก่อนหน้านี้เราจะเห็นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ทยอยลดพนักงานลง แต่ล่าสุดการปลดพนักงานเริ่มลามมาสู่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ และมีแนวโน้มว่าจะขยายไปยังภาคธุรกิจจีนมากขึ้นด้วย

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ โกลด์แมน แซคส์ เพิ่งประกาศว่าเตรียมจะปลดพนักงานราว 4,000 คน เพื่อลดค่าใช้จ่ายลง ขณะที่ มอร์แกน สแตนลีย์ ก็มีแผนปลดพนักงานราว 1,600 คน ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามรอย ซิตี้ กรุ๊ป และ บาร์เคลย์ส ที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว

อาการเหล่านี้ถือเป็นสัญญาณเตือนที่บ่งชี้ถึง Recession ที่อาจมาเยือนในไม่ช้า ดังนั้นแม้การเปิดประเทศของ ‘จีน’ จะเริ่มเป็นความหวังที่ชัดเจนขึ้นของเศรษฐกิจไทย แต่ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกแล้ว ในปีหน้าต้องบอกว่ายังประมาทไม่ได้จริงๆ และสัญญาณเตือนเริ่มมาให้เห็นแล้วจากตัวเลขการส่งออกของไทยเดือน พ.ย. 65 ที่ติดลบอีก 6% ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองแล้ว!