นายกฯ สั่ง พลังงาน ลดค่าไฟภาคธุรกิจ ลุ้นปตท.เคาะช่วยกลุ่มเปราะบางเพิ่ม

นายกฯ สั่ง พลังงาน ลดค่าไฟภาคธุรกิจ ลุ้นปตท.เคาะช่วยกลุ่มเปราะบางเพิ่ม

"พลังงาน" ชี้ นายกฯ สั่งลดค่าไฟ จี้ปตท.ทำแผนช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางลดลงอีก ส่วนกลุ่มธุรกิจอยู่ระหว่างทำตัวเลขใหม่ รอเคาะอีกครั้ง 28 ธ.ค. นี้ ด้าน กฟผ. ย้ำหากให้รับภาระ รัฐต้องหาเงินสนับสนุนที่ไม่ใช่เงินกู้ ปตท. อ้ำอึ่งไม่ตอบงบ 6,000 ล้าน รอลุ้นบอร์ดพิจารณา 27 ธ.ค. นี้

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ทบทวนราคาค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ให้ถูกลงกว่าเดิมที่ 190.44 สตางค์ต่อหน่วยแน่นอน แต่คงไม่เยอะเท่าไหร่และอาจไม่ถูกใจใครบางกลุ่ม ซึ่งขณะนี้ได้ส่งตัวเลขให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เรียบร้อยแล้ว โดยวันที่ 28 ธ.ค. 2565 จะมีการประชุมบอร์ดกกพ.เพื่อคำนวณตัวเลขใหม่อีกครั้งในหลายมิติ

ทั้งนี้ อยากทำความเข้าใจว่าเป็นวิกฤติพลังงานจริง ๆ ซึ่งการนำเข้าราคาก๊าซธรรมชาติ LNG สูงมากระดับ 29-30 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ถ้าราคา 10 กว่าดอลลาร์ต่อล้านบีทียูก็จะไม่เป็นปัญหาอะไร ดังนั้น สิ่งที่ต้องคิดคือ การปรับตัว ซึ่งขณะนี้ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จะเร่งกำลังผลิตในอ่าวไทยให้มากขึ้น ซึ่งต้นปี 2566 จะเพิ่มกำลังผลิตได้ จึงอยากให้เข้าใจว่าของมีขึ้นได้ก็ลงได้

“วันนี้เรานำเข้าแพง ผลิตไฟฟ้าราคาไม่คิดค่าสายส่งราวหน่วยละ 6.50 บาท หากรวมราวหน่วยละ 7-8 บาท เราจะต้องลดการนำเข้าก๊าซ LNG ใช้น้ำมันดีเซลมาผลิตไฟเดือนละ 400 ล้านลิตร หรือ 15% และการขยายเวลาใช้ถ่านหิน 5% รวมเป็น 20% เข้าไปแล้ว ซึ่งการขนส่งก็ไม่ง่าย ที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกหนี้กว่า 1 แสนล้านบาท ดังนั้น ภาคธุรกิจฟื้นตัวดีขึ้น การใช้ไฟฟ้ามาก และยิ่งมากเท่าไหร่เราต้องนำเข้า LNG มากขึ้นเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ภาคครัวเรือนมีการประหยัด ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะช่วยอย่างไร เพราะเป็นกลุ่มที่ใช้ลดลง ซึ่งใช้ไฟโดยรวมที่ 17% ของภาคพลังงานทั้งหมด รัฐบาลก็ไม่ได้อยากไปผลักภาระให้กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีบุญคุณต่อการเติบโตของประเทศ และยืนยันว่าตัวเลข Ft จะลดลงแน่นอน แต่อาจไม่ถูกใจใคร จึงอยากให้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งทุกฝ่ายพยายามเต็มที่ ต้องเสริมสภาพคล่องกฟผ.ด้วย ซึ่งพิจารณาตัวเลขคืนกฟผ.ที่ 0.33 สตางค์คือต่ำเท่าที่จะต่ำได้แล้ว 

“อยากให้กลุ่มธุรกิจทำเหมือนตอนเราแก้ปัญหาโควิด หันหน้าคุยกัน เราตระหนักว่าอะไรปรับได้ก็ปรับ ซึ่งตนก็อยากให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ช่วยดูตรงนี้เพราะเป็นภาคพลังงานที่ใช้แก๊ส LNG เป็นเชื้อเพลิงสูงและใช้ในราคาเฉลี่ยเหมือนกัน ซึ่งเอกชนยังไม่มีความพยายามใช้น้ำมันเตาหรือแก๊สตัวอื่นเลย อย่ามาเอาค่าเฉลี่ยราคาเท่ากับประชาชนกว่า 23 ล้านครัวเรือนมีการปรับค่า Ft ไปที่ 93 สตางค์ตั้งแต่ต้นปี 2565 ซึ่งไม่เป็นภาระในส่วนที่นำเข้า LNG แพงขึ้น”

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ปตท.อยู่ระหว่างหาวิธีช่วยเหลือตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ขอความร่วมมือพิจารณาจัดสรรรายได้จากการดำเนินธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน ระยะเวลา 4 เดือน (ตั้งแต่ ม.ค. – เม.ย. 66) เป็น 6,000 ล้านบาท มาช่วยสนับสนุนในรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า แบ่งเป็น

ส่วนที่ 1 ลดราคาค่าก๊าซฯ ให้กฟผ. เพื่อลดค่าไฟกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 500 หน่วยต่อเดือน

ส่วนที่ 2 ลดราคาก๊าซฯ สำหรับโรงแยกก๊าซฯ ในการคำนวณต้นทุนก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพื่อเป็นเชื้อเพลิง

ทั้งนี้ การช่วยเหลือมีหลายวิธีที่ไม่ใช่เฉพาะการช่วยเหลือในเรื่องของเงินเท่านั้น แต่ยังมีการบริหารจัดการเพื่อที่จะทำให้ต้นทุนลดลงเพื่อเอาไปคำนวนช่วยเหลือกลุ่มเหราะบาง เป็นต้น

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า หากจะให้กฟผ.รับภาระค่า Ft กว่า 1.5 แสนล้านบาทคงไม่ไหว และถามว่าถ้าจะให้รับค่า Ft ที่หน่วยละ 33 สตางค์ คงจะลำบาก ดังนั้น หากจะให้รับภาระอีกรัฐบาลจะต้องช่วยเหลือตรงนี้ เช่น งดการจ่ายเงินเข้ารัฐ ซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ กฟผ.ใช้วิธีเลื่อนจ่ายเป็นต้น 

ทั้งนี้ รายได้ที่กฟผ.นำส่งรัฐค้างจ่ายปีก่อนที่ 6,000 กว่าล้านบาท  และในปี 65 ประมาณ 17,000 ล้านบาท