ลุ้น กกพ. ทบทวนขึ้นค่าไฟ? งวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 66

ขณะนี้ทางกกร. รอความชัดเจนจากรัฐบาล หลังได้ยื่นข้อเสนอให้มีการทบทวนการขึ้นค่าไฟฟ้าของภาคเอกชนในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 เป็น หน่วยละ 5.69 บาท

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานร่วมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ทางกกร. รอความชัดเจนจากรัฐบาล หลังได้ยื่นข้อเสนอให้มีการทบทวนการขึ้นค่าไฟฟ้าของภาคเอกชนในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 เป็น หน่วยละ 5.69 บาท ซึ่งหากรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว  เร็วๆ นี้ กกร. เตรียมจะจัดหารือผู้บริหารระดับสูง หรือ ซีอีโอ แต่ละองค์กร ทุกกลุ่มธุรกิจ เพื่อยื่นหนังสือและขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ยังพอมีเวลาตัดสินใจก่อนปีใหม่ โดยภาคเอกชนพร้อมหาทางออกแก้ไขด้วยกัน

ที่ผ่านมา มีเจ้าของธุรกิจในทุกภาคส่วน ให้ข้อมูลถึงความเดือดร้อนจากการปรับขึ้นค่าไฟ และร้องขอให้หอค้าไทย และ กกร. (คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน) ประสานไปยังรัฐบาล ล่าสุดผู้ประกอบการโรงเรียนหลายแห่งแจ้งว่าได้รับเดือดร้อนมาก เพราะโรงเรียนหลายแห่งใช้เครื่องปรับอากาศในห้องเรียนและห้องกิจกรรมการเรียนการสอน จึงไม่ได้กระทบแค่ภาคอุตสาหกรรม การค้า บริหาร หรือ ท่องเที่ยว เท่านั้น สถาบันการศึกษาก็เจอปัญหาด้วย
 ภาคเอกชนจึงหวังว่าการประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) วันที่ 26 ธันวาคมนี้ จะมีการทบทวนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) ที่จะใช้ในเดือนมกราคมถึงเมษายน 2566 อัตรา 190.44 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าจัดเก็บอยู่ที่ 5.69 บาทต่อหน่วย รวมถึงทางออกเรื่องนี้
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ระบุว่า หลังจากยื่นหนังสือในนามกกร.ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา และกกร.จัดแถลงข่าวแสดงจุดยืนผลกระทบ ข้อเสนอแนะ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา กกร.จะขอดูท่าทีของรัฐบาลในวันที่ 26-27 ธันวาคมนี้อีกครั้ง เพราะวันที่ 27 ธันวาคมมีการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือครม. แต่หากตัวเลขค่าไฟของเอกชนยังคงเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง ทาง กกร. คงจะมีการประชุมหารือในเรื่องนี้ต่อไป
ซึ่งสิ่งที่ภาคเอกชนกังวบมากที่สุดหากมีการขึ้นค่าไฟ มี 3 เรื่อง คือ 1. ราคาอัตรานี้จะกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย 2. ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในระดับสูง และ 3.ทำให้แนวโน้มการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ) ของไทยอาจลงด้วย เพราะต้นทุนค่าไฟของไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งนักลงทุนต่างชาติพิจารณาค่าไฟเป็นส่วนประกอบในการตัดสินใจลงทุน
“อยากให้รัฐบาลเข้าใจว่าสิ่งที่เอกชนกังวลนั้นเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ดราม่า เป็นข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมด”