นายกฯ เปิดท่าเรืออัจฉริยะ เดินหน้าพัฒนาครบ 29 แห่งภายในปี 68

นายกฯ เปิดท่าเรืออัจฉริยะ เดินหน้าพัฒนาครบ 29 แห่งภายในปี 68

นายกรัฐมนตรีเปิดท่าเรือราชินีและท่าเรือบางโพ หลังคมนาคมลุยปรับปรุงยกระดับสู่ Smart Pier เชื่อมต่อล้อ เรือ ราง พร้อมเดินหน้าปรับปรุงครบ 29 แห่ง ภายในปี 2568

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดท่าเรือราชินีและท่าเรือบางโพ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2566 พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยสู่อนาคต พร้อมระบุว่า ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561 - 2580 รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ ทั้งทางถนน ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระดับนานาชาติ ตลอดจนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้มีความสะดวก ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

โดยตามที่กระทรวงคมนาคม กรมเจ้าท่า (จท.) มีแผนพัฒนายกระดับท่าเรือโดยสาร (Smart Pier) ในแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นสถานีเรือที่มีความทันสมัย สะดวก ปลอดภัย เชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะต่าง ๆ ทั้งทางถนนและทางราง ซึ่งขณะนี้ภายใต้แผนงานดังกล่าว จท. ได้ก่อสร้าง ปรับปรุงท่าเรือราชินีและท่าเรือบางโพแล้วเสร็จ โดยมีระบบการให้บริการที่ทันสมัย รูปลักษณ์สวยงาม เป็นอารยสถาปัตย์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ทำให้พี่น้องประชาชน ผู้รับบริการ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนมากได้รับความสะดวกสบายในการเดินทาง พร้อมสนับสนุนการท่องเที่ยวทางน้ำที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศ

นายกฯ เปิดท่าเรืออัจฉริยะ เดินหน้าพัฒนาครบ 29 แห่งภายในปี 68

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จท.ได้กำหนดแผนพัฒนายกระดับท่าเรือโดยสาร (Smart Pier) ในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ปี 2562 - 2568 ที่จะพัฒนาท่าเรือ จำนวน 29 แห่ง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประกอบด้วย

-       ดำเนินการแล้วเสร็จ (ระหว่างปี 2562 - 2564) เปิดใช้งานแล้ว จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือกรมเจ้าท่า ท่าเรือสะพานพุทธ ท่าเรือนนทบุรี ท่าเรือท่าช้าง ท่าเรือสาทร และท่าเรือพายัพ

-       ดำเนินการแล้วเสร็จเพิ่มในปี 2565 จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือราชินี และท่าเรือบางโพ

-       อยู่ระหว่างดำเนินการและจะแล้วเสร็จในปี 2566 จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือท่าเตียน ท่าเรือพระราม 7 และท่าเรือเกียกกาย

-       แผนดำเนินการในปีงบประมาณ 2566 - 2568 จำนวน 18 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือพระราม 5 ท่าเรือพระปิ่นเกล้า ท่าเรือปากเกร็ด ท่าเรือสี่พระยา ท่าเรือเขียวไข่กา ท่าเรือสะพานกรุงธน (ซังฮี้) ท่าเรือพรานนก ท่าเรือเทเวศร์ ท่าเรือโอเรียนเต็ล ท่าเรือราชวงศ์ ท่าเรือพิบูลสงคราม 2 (นนทบุรี) ท่าเรือวัดตึก ท่าเรือพิบูลสงคราม 1 ท่าเรือวัดเขมา ท่าเรือวัดสร้อยทอง ท่าเรือวัดเทพากร ท่าเรือวัดเทพนารี และท่าเรือรถไฟ

ทั้งนี้ ท่าเรือดังกล่าวจะมีการพัฒนาให้มีรูปลักษณ์สวยงามตามหลัก (Universal Design) มีระบบการให้บริการที่ทันสมัย เชื่อมต่อระบบการขนส่งสาธารณะ ล้อ ราง เรือ ได้อย่างสมบูรณ์ รวมทั้งส่งเสริมให้มีเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าที่สามารถประหยัดพลังงาน ลดมลพิษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน มีส่วนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ และสร้างรายได้ให้กับประเทศ เมื่อการก่อสร้างปรับปรุงท่าเรือแล้วเสร็จตามแผนจะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 53,000 คนต่อวัน ในปี 2570

สำหรับท่าเรือราชินีและท่าเรือบางโพที่เปิดให้บริการในวันนี้ ถือเป็นท่าเรือที่มีความสำคัญและเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อของระบบล้อ ราง เรือ โดยท่าเรือราชินีจะเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า MRT สนามไชย เป็นจุดเชื่อมการเดินทางเข้าสู่เมืองและแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญและมีความเก่าแก่เชิงประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน อีกทั้งยังเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า MRT บางโพ และอยู่ใกล้กับทางด่วนศรีรัช เป็นจุดเชื่อมการเดินทางเข้าสู่เมืองและสถานที่สำคัญที่มีความเก่าแก่ และสถานที่ท่องเที่ยวตามวิถีชีวิตที่ทันสมัย เช่น ห้างสรรพสินค้าเกตเวย์ บางซื่อ (Gateway Bangsue) ศูนย์กลางชอปปิ้งพร้อมรับอนาคตชุมชนเมืองใหญ่ เป็นต้น