เปิดเบื้องลึก-เบื้องหลังกว่าจะได้เป็นเศรษฐินีจีนในสังคมชายเป็นใหญ่

เปิดเบื้องลึก-เบื้องหลังกว่าจะได้เป็นเศรษฐินีจีนในสังคมชายเป็นใหญ่

เปิดเบื้องลึก-เบื้องหลังกว่าจะได้เป็นเศรษฐินีจีนในสังคมชายเป็นใหญ่ ขณะที่จีนมีผู้หญิงช่วงอายุ 15-64 ปี ทั้งหมด 470 ล้านคน เป็นเศรษฐินีที่รวยด้วยตนเอง 78 คน มากกว่าเศรษฐินีประเทศอื่นรวมกันถึง 2 เท่า

‘เจน ซัน’ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ)ทริปดอทคอมกรุ๊ป บริษัทให้บริการด้านการท่องเที่ยว ถูกเอ่ยถึงในนิตยสารฟอร์จูนมาแล้ว 4 ครั้ง เธอเป็นหนึ่งใน 50 นักธุรกิจหญิงทรงอิทธิพลที่สุดในโลก และทริปดอทคอมมีมูลค่าทางการตลาดเพิ่มขึ้นจาก 1,000 ล้านดอลลาร์เป็น22,000 ล้านดอลลาร์ ตั้งแต่เธอเข้ามาบริหาร

ทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้บริหารหญิงและผู้ประกอบการนับแสนคนที่ได้รับการสนับสนุนจากการค้าเสรีของเศรษฐกิจจีนที่เริ่มต้นช่วงปลายปี 1970 และเติบโตอย่างรวดเร็วมาตลอดหลายสิบปี

จีน เป็นประเทศที่มีเศรษฐินีที่ร่ำรวยด้วยตนเอง 2ใน 3 ของโลก แม้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่จำกัดสิทธิของสตรีแต่จีนก็ได้รับการยกย่องถึงความสำเร็จ ด้านการพัฒนามนุษย์และความเท่าเทียมทางเพศมากกว่าประเทศรายได้ปานกลาง

ข้อมูลจากการจัดอันดับเศรษฐินีที่รวยที่สุดในโลก ปี 2565บ่งชี้ว่า ประเทศจีนมีผู้หญิงช่วงอายุ 15-64 ทั้งหมด 470 ล้านคน มีเศรษฐินีที่รวยด้วยตนเอง 78 คน มากกว่าเศรษฐินีประเทศอื่นรวมกันถึง 2 เท่า ในขณะที่อินเดียมีประชากรหญิง 450 ล้านคน แต่มีเศรษฐินีที่รวยด้วยตนเองเพียง 3 คนเท่านั้น

“รูเพิร์ต ฮูกเวอร์ฟ”ประธานและหัวหน้านักวิจัยหลักของหูรุ่นบอกว่า ‘เศรษฐินีที่รวยด้วยตนเอง’ คือคนที่ไม่ได้รับมรดกตกทอดมาจากพ่อแม่ที่เป็นเศรษฐี แต่การจัดอันดับดังกล่าว รวมผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือจากพ่อแม่ เช่น ได้เข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนราคาแพง

“หลิว เฉียน”กรรมการผู้จัดการเกรทเตอร์ไชนาฟอร์อีโคโนมิสต์กรุ๊ปกล่าวว่า การเข้าถึงการศึกษา ควบคู่กับแรงสนับสนุนจากครอบครัว ที่มีปู่ย่าตายยายคอยดูแลลูกหลาน ช่วยสร้างความมั่งคั่งให้กับหญิงชาวจีนมากขึ้น รวมถึงนโยบายลูกคนเดียวด้วยหากชาวจีนมีลูกผู้หญิงคนเดียวจำเป็นต้องส่งไปเรียนหนังสืออยู่ดี แต่นโยบายดังกล่าว นอกจากจะช่วยควบคุมจำนวนประชากรแล้ว ยังทำร้ายผู้หญิงที่พึงพอใจอยากมีลูกชายมากกว่า ทำให้หญิงหลายคนทำแท้ง และขาดความสมดุลด้านประชากรเพศหญิง

สิบปีที่ผ่านมา หญิงชาวจีนเริ่มทำธุรกิจสตาร์ตอัปมากขึ้น เนื่องจากคณะรัฐมนตรีเรียกร้องให้รัฐมนตรีและรัฐบาลท้องถิ่นสนับสนุนนวัตกรรม

“หู เว่ยเว่ย”ผู้ร่วมก่อตั้ง โมไบค์ เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการหญิงอายุน้อยนับร้อยคนที่มีชื่อเสียง เธอขายรถโมไบค์ ให้กับเหม่ยถวน ธุรกิจส่งอาหารแบบเดลิเวอรียักษ์ใหญ่ในปี 2561
 

ส่วน“ซินดี้ หมี่”ผู้ร่วมก่อตั้งวีไอพีคิด บริษัทยูนิคอร์นเทคโนโลยีการศึกษา เป็นผู้บริหารหญิงอีกคนที่ถูกเอ่ยถึงในนิตยสาร

อย่างไรก็ตาม ช่องว่างระหว่างเพศเริ่มเพิ่มมากขึ้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการจ้างงานผู้หญิง ส่วนแบ่งรายได้ของแรงงานและอำนาจทางการเมือง

ผศ.ดร. เลตา ฮง ฟินเชอร์ จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวว่า “หญิงชาวจีนไม่เคยเท่าเทียมกับผู้ชาย และจีนช่วยพัฒนาการมีส่วนร่วมของแรงงานหญิงน้อยมากในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา”

ปีนี้จีนมีความคืบหน้าในการเชื่อมช่องว่างระหว่างเพศในด้านสุขภาพเพียงเล็กน้อย และตำแหน่งเสริมอำนาจทางการเมืองของผู้หญิงลดลงตั้งแต่ปี 2553นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2491 สมาชิกโปลิตบูโรที่เป็นผู้ชาย ยอมรับสมาชิกผู้หญิงเพียง 6 คนเท่านั้น ซึ่งสามคนเป็นภรรยาของผู้นำจีน อีก 3 คน เป็นรองนายกรัฐมนตรี และไม่เคยมีผู้หญิงคนใดดำรงตำแหน่งคณะกรรมการถาวรในโปลิตบูโร

ช่วงต้นทศวรรษ 1990 รัฐบาลจีนประกาศให้รัฐวิสาหกิจที่ไม่มีความสำคัญถูกปิดตัวลง ซึ่งฟินเชอร์กล่าวว่าการปฏิรูปตลาดแรงงานช่วงทศวรรษ 1980 ผู้หญิงมักเป็นคนแรกที่ถูกปลดออกจากงานในช่วงการปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจ และจีนไม่เคยช่วยเหลือหรือผลักดันการมีส่วนร่วมของแรงงานหญิงแต่อย่างใดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งรัฐบาลเรียกผู้หญิงที่อายุ 20 ปลายว่าเป็นหญิงที่ขายไม่ออก ดูถูกการศึกษาผู้หญิงและความทะเยอทะยานของพวกเธอ

ในปี 2557 จำนวนผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริษัทในจีนลดลงจาก 40.1% เหลือ 34.9% ในปี 2563 และผู้หญิงดำรงตำแหน่งระดับหัวหน้าลดลงจาก 41.5% เหลือ 38.2% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ฐานข้อมูลจาก World Inequality ระบุว่า ขณะที่ประเทศอื่นอย่าง เวียดนาม ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย อินเดีย บังกลาเทศ และปากีสถาน มีส่วนแบ่งรายได้ของผู้หญิงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่รายได้หญิงชาวจีนกลับลดลงตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 และร่วงถึง 33.4% ในปี 2562 และมีหญิงชาวจีนเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่ขึ้นเป็นผู้นำ

จีนเป็นประเทศเดียวในปีนี้ที่ช่องว่างระหว่างเพศหญิงชายมีมากกว่า 10% ของการศึกษาระดับมัธยมศึกษาในเอเชียตะวันออกแถบแปซิฟิก

ช่องว่างระหว่างค่าจ้างในประเทศเพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่ปี 2533 และสิบปีต่อมา หญิงชาวจีนในเมืองมีรายได้เฉลี่ย 70% ของรายได้ผู้ชาย และสิบปีจากนั้น ผู้หญิงมีรายได้ 67.3% ของผู้ชาย ซึี่งจีนไม่เปิดเผยข้อมูลความเหลื่อมล้ำของรายได้ตามเพศตั้งแต่ปี 2553-2563 ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าช่องว่างระหว่างค่าจ้างหญิงชายมีความแตกต่างกันมาก

Zhaopin เว็บไซต์จัดหางานจีน ระบุว่า แม้หญิงวัยทำงาน 55.9% เรียนจบปริญญาตรีหรือสูงกว่านั้น มีหญิงเพียง 34.2% เท่านั้นที่ดำรงตำแหน่งผู้จัดการ เมื่อเทียบกับผู้ชายที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว 40.7%

ส่วน“เจน ซัน”โตมาในครอบครัววิศวกร เธอได้ทุนเรียนต่อในมหาวิทยาลัยฟลอริดา ทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟและผู้ช่วยห้องสมุดเพื่อเลี้ยงชีพ ตอนนี้เธอกลายเป็นผู้บริหารบริษัท และเธอย้ำว่า ทุก ๆ องค์กรต้องมีผู้หญิงดำรงตำแหน่งระดับผู้บริหารและคณะกรรมการบริหาร และบริษัทควรใส่ใจกับพนักงานหญิง

ฟินเชอร์ กล่าวว่า “หากมีการพัฒนาสิทธิของหญิงชาวจีนเกิดขึ้น อาจมาจากคนรุ่นใหม่และเมื่อความกดดันนั้นแข็งแกร่งมากพอ พวกเธอจะเผชิญหน้ากับรัฐบาลและเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อผู้หญิงได้บ้าง”