Cisco ปักธง "อีอีซี ซิลิคอนเทคพาร์ค" ขับเคลื่อนเน็ตไฮสปีด ดึงสตาร์ทอัพไฮเทค

Cisco ปักธง "อีอีซี ซิลิคอนเทคพาร์ค" ขับเคลื่อนเน็ตไฮสปีด ดึงสตาร์ทอัพไฮเทค

ซิสโก้ จับมือซิลิคอนเทคพาร์ค และแพลนเน็ตคอม สร้างเครือข่ายเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตความเร็วสูงสุด 400 Gbps หนุนอุตสาหกรรมสู่ยุคดิจิทัล ดึงดูดลงทุนกลุ่ม data business และสตาร์ทอัพไฮเทค จากไต้หวัน สหรัฐ ซาอุฯ อิสราเอล คาดสร้างเม็ดเงินลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท

นายคณิศ แสงสุพรรณ ประธานที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า อีอีซี ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนชั้นนำด้านนวัตกรรม ประกอบด้วย ซิสโก้, แพลนเน็ตคอม และซิลิคอนเทคพาร์ค เตรียมความพร้อมการพัฒนา “ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง (EECtp)” เพื่อผลักดันการเชื่อมต่อโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงพิเศษในพื้นที่ 

ซึ่งนับเป็นการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในพื้นที่อีอีซี เพื่อจูงใจบริษัทชั้นนำทั่วโลกเข้ามาลงทุนวิจัยพัฒนา (R&D) ต่อยอดธุรกิจด้านดิจิทัลในพื้นที่ในอีอีซี รวมทั้งสร้างพื้นที่สำหรับกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพให้เข้ามาทำงานเพิ่มขึ้น อีกทั้งจะเป็นศูนย์ฝึกอบรม การเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลในพื้นที่ อีอีซี 

โดยตั้งเป้าหมายให้พื้นที่ EEC Silicon Tech Park เป็นเมืองต้นแบบดิจิทัล หรือ ซิลิคอนวอลเล่ย์แห่ง ภาคตะวันออก ดึงการลงทุนด้านดิจิทัล ขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอัจฉริยะ สร้างโอกาสลงทุนตามแผนอีอีซี ระยะ 2 ให้ได้ตามเป้าหมาย 2.2 ล้านล้านบาท ภายในปี 2570 

นายทวีวัฒน์ จันทรเสโน กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทยและพม่า กล่าวว่า ความร่วมมือนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัล” หรือ Cisco’s Country Digital Acceleration (CDA) ในการเข้าไปมีส่วนร่วมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศต่างๆ ปัจจุบัน มีโครงการใน 44 ประเทศ กว่า 1,000 โครงการ 
 

สำหรับโครงการ CDA ในไทย ที่ซิลิคอนเทคพาร์ค ซิสโก้จะเข้าไปสร้างการเข้าถึงเครือข่ายแบบหลายชั้นด้วยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงพิเศษ 400 Gbps และการเข้าถึงไวไฟสาธารณะในการเชื่อมต่อเสาอัจฉริยะทั่วทั้งอีอีซี Silicon Tech Park โดยเป็นพื้นที่ที่ธุรกิจสามารถนำร่องประสบการณ์การเชื่อมต่อยุคใหม่ เช่น ระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ และระบบขนส่งอัจฉริยะ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชากร

Cisco ปักธง \"อีอีซี ซิลิคอนเทคพาร์ค\" ขับเคลื่อนเน็ตไฮสปีด ดึงสตาร์ทอัพไฮเทค นายชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านการพัฒนาบุคลากรฯ สกพอ. กล่าวว่า โครงการ EEC Silicon Tech Park จะเป็นพื้นที่ศูนย์รวมงานวิจัยและเทคโนโลยีขั้นสูงของอีอีซี ที่ส่งเสริมและยกระดับความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากร ด้านหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และดิจิทัล ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ อีอีซี จะได้รับความรู้ และเกิดการใช้ระบบผลิตอัตโนมัติแบบดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตขั้นสูงในพื้นที่ 

พร้อมกันนี้จะสามารถฝึกอบรมทักษะใหม่ (New skill) เพื่อพัฒนาความชำนาญให้แก่บุคลากรที่จะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมทักษะด้าน Robotics & Automation โดยตรง ซึ่งเป็นบุคลากรพิเศษเฉพาะด้าน โดยตั้งเป้าหมายจะพัฒนาให้ได้ประมาณ 5,000 คน ภายใน 5 ปี สร้างความพร้อมและจูงใจให้ผู้ประกอบการทั่วโลกสนใจลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัล ในพื้นที่อีอีซีต่อไป

มร. เอ็ดเวิร์ด แกรนท์ ที่ปรึกษาอาวุโสของ อีอีซี ซิลิคอนเทคพาร์ค กล่าวว่า EEC Silicon Tech Park (EEC STP) ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีในอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง พื้นที่รวม 519 ไร่ โดยการพัฒนา EEC STP จะเป็นหัวใจสำคัญของแผนการสร้างศูนย์กลางของเทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรมของอีอีซี  

ทั้งนี้ ความพร้อมของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ขับเคลื่อนโดยซิสโก้ EEC STP Park สามารถให้บริการเชื่อมต่อดิจิทัลกับผู้พักอาศัย รวมถึงการวิจัยและพัฒนาในทุกอุตสาหกรรม เช่น การบิน การแพทย์ การเงิน เทคโนโลยี

นายประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการซิลิคอนเทคพาร์คในเฟสแรกจะมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน 1,000 ล้านบาท โดยพื้นที่จะสามารถรองรับการลงทุนเอกชนไม่ต่ำกว่า 60 ราย

"เราคาดว่าเอกชนเข้ามาลงทุนราว 4-5,000 ล้านบาท โดยเราจะใช้เครือข่ายที่มีในการจัดโรดโชว์ และพูดคุยดึงนักลงทุนเข้ามาในพื้นที่ ปัจจุบันมีนักลงทุนที่สนใจแล้ว อาทิซาอุดิอาระเบีย ในการลงทุนระบบคลาวด์ และดาต้าเซ็นเตอร์ส่วนไต้หวัน สนใจลงทุนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อิสราเอล และสหรัฐ สนใจลงทุนเครื่องมืออุปกรณ์ ทั้งนี้ โครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการที่ไทยจะได้ประโยชน์ในทุกด้าน"

อย่างไรก็ตาม ไทยจะมีความได้เปรียบหมดในการดึงดูดการลงทุนเข้ามาในพื้นที่อีอีซีด้วยยุทธศาสตร์ด้านพื้นที่และสิทธิประโยชน์ แต่จะเสียเปรียบเรื่องต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค 

"ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างขอเจรจากับภาครัฐให้ลดต้นทุนค่าไฟ 10-20% ให้กับภาคเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่สำหรับธุรกิจที่มีการใช้ไฟฟ้าปริมาณสูง อาทิ ดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อสร้างแต้มต่อในการแข่งขันด้านการลงทุนให้กับประเทศ"