“บีโอไอ”เร่งดึงญี่ปุ่น ตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทย

“บีโอไอ”เร่งดึงญี่ปุ่น ตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทย

ญี่ปุ่นยังคงเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยอันดับต้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้บางช่วงสถิติการลงทุนจากจีนจะแซงหน้าญี่ปุ่น โดยในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา (2560-ก.ย.2565) บริษัทญี่ปุ่นยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด 1,371 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 474,790 ล้านบาท

การลงทุนของญี่ปุ่นส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์เคมี โดยไทยถือเป็นพื้นที่การลงทุนหลักที่ขับเคลื่อนซัพพลายเชนของญี่ปุ่น

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จัดกิจกรรมดึงการลงทุนต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และล่าสุดได้โรดโชว์การลงทุนที่ญี่ปุ่นในวันที่ 28-30 พ.ย.2565

สำหรับการโรดโชว์ครั้งนี้ ภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่นเห็นทิศทางเดียวกันว่า ไทยยังเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจสำคัญ และยืนยันใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักของญี่ปุ่นในอาเซียน อีกทั้งมีแผนขยายการลงทุนในไทยต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม

“นักลงทุนญี่ปุ่นยังมีการพิจารณาตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทย เพื่อเป็นศูนย์บริหารจัดการการผลิตและการบริการในภูมิภาค เพราะมองว่าไทยมีเศรษฐกิจมั่นคง มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพบุคลากร สภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับชาวญี่ปุ่นที่มาประจำการที่ไทย”

สำหรับการส่งเสริมการตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทยเป็น 1 ใน 9 มาตรการใหม่ ภายใต้ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (2566-2570) โดยมาตรการส่งเสริมการย้ายฐานธุรกิจแบบครบวงจร ได้กำหนดสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการย้ายฐานธุรกิจมาไทยแบบครบวงจร ทั้งโรงงานผลิต สำนักงานภูมิภาค และศูนย์วิจัยและพัฒนา ซึ่งถ้ามาครบทั้ง 3 ส่วน จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่กิจการผลิตเพิ่มเติม 5 ปี ทั้งนี้ต้องยื่นคำขอภายในปี 2566

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2558-ก.ย.2565 มีผู้ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Center : IBC) 375 โครงการ โดยส่วนใหญ่มาจากประเทศญี่ปุ่นเป็นสัดส่วนกว่า 40% 

ขณะที่เมื่อแบ่งตามภาคอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มยานยนต์ 17% รองลงมาคือเครื่องจักรและอุปกรณ์ 10% เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 10% เคมีภัณฑ์และพลาสติก 7% และดิจิทัล 7%

“การส่งเสริมให้เกิดการลงทุนตั้งสำนักงานประจำภูมิภาคในไทยจะเปิดโอกาสให้เกิดการจ้างงานรายได้สูงเพิ่มหลายตำแหน่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจ้างงานคนไทยกว่าครึ่งหนึ่ง ทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและระบบการทำงานขององค์กรระดับโลก และถือเป็นการยกระดับทักษะแรงงานในประเทศอีกด้วย”

นอกจากนี้ เดือน มี.ค.2566 สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren) จะนำผู้บริหารคณะกรรมการเศรษฐกิจและการค้าไทย-ญี่ปุ่น มาเยือนไทย โดยจะมารับฟังข้อมูลการลงทุนจากหน่วยงานภาครัฐ และประชุมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) รวมทั้งเยี่ยมชมและศึกษาลู่ทางการลงทุนใน EEC “บีโอไอ”เร่งดึงญี่ปุ่น ตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทย