“อุตตม” ชูนโยบาย5สร้างพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้

“อุตตม” ชูนโยบาย5สร้างพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้

“อุตตม” หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย เสนอนโยบาย 5 สร้าง ตอบโจทย์พัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หนุนอุตสาหกรรมฮาลาล เชื่อมโยงท่องเที่ยวชุมชน

นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เนื้อหาดังนี้

สวัสดีครับ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา คณะพรรคสร้างอนาคตไทยได้เดินทางไปพบปะพี่น้องชาวจังหวัดนราธิวาส เพื่อแนะนำตัวผู้แสดงเจตจำนงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ในนามพรรคฯ พร้อมกับพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับพี่น้อง ถึงแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของชาวนราธิวาส รวมทั้งพื้นที่อื่นๆใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ 

ทั้งนี้ เป็นที่รับรู้ว่าพื้นที่ชายแดนใต้มีต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติมากมาย รวมถึงต้นทุนทางวัฒนธรรม และภูมิศาสตร์ที่ตั้งติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน สามารถสร้างประโยชน์จากการค้าขายชายแดนได้เป็นอย่างดี แต่กลับพบว่าประชาชนในพื้นที่มีปัญหาความยากจนสูง โดยเฉพาะนราธิวาสเป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวประชากรต่ำที่สุดของประเทศ  

ผมได้นำเสนอต่อพี่น้องว่า พรรคฯมีนโยบาย “5 สร้าง” ที่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่ชายแดนใต้อย่างลงตัว โดยเราต้องเชื่อมโยงทุกมิติของการพัฒนา ทั้งการสร้างความเข้มแข็งในชุมชนฐานราก สร้างการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ สร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านกายภาพและดิจิทัล รวมทั้งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้สามารถดึงทรัพยากรในพื้นที่ออกมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และการดำเนินงานทั้งหมดนี้ต้องสอดรับกับบริบทและความเป็นอัตลักษณ์ที่แตกต่าง บนพื้นฐานของการให้ความเคารพในความเป็นพหุวัฒนธรรม และความมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ สนับสนุนสังคมเอื้ออาทร และการเมืองที่สร้างสรรค์  

ยกตัวอย่างพื้นที่ชายแดนใต้มีความเหมาะสมต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาล แต่ที่ผ่านมายังมีข้อจำกัด ทั้งนี้เนื่องจากผู้ประกอบการฮาลาลในพื้นที่ร้อยละ 90 เป็นรายเล็กรายกลางหรือเอสเอ็มอี พรรคฯจึงเห็นว่าควรจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ขึ้นมาโดยตรงในพื้นที่ เพื่อมุ่งส่งเสริมให้เอสเอ็มอีเหล่านั้นเข้มแข็งขึ้น พร้อมกับเชื่อมโยงแหล่งผลิตในชุมชน ดูแลครบวงจรทั้งการพัฒนา ส่งเสริมสิทธิประโยชน์ และการตลาด ซึ่งเป็นรูปแบบคล้ายๆกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาล ของประเทศมาเลเซียที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก 

สำหรับมิติการสนับสนุนให้เศรษฐกิจชุมชนมีความมีความเข้มเข็ง นอกเหนือจากยึดโยงกับการท่องเที่ยวชุมชนแล้ว ยังต้องยกระดับสู่การเกษตรยุคใหม่ ส่งเสริมให้เกิดการผลิตชุมชนที่นอกจากตอบสนองอุตสาหกรรมฮาลาลแล้ว ยังต้องส่งเสริมให้ชุมชนดึงศักยภาพที่มีอยู่มาสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น เนื่องจากพื้นที่ชายแดนใต้มีของดีมากมาย ยกตัวอย่างที่วันนี้รู้จักกันดี เช่น ปลากุเลาเค็ม ไก่เบตง ลองกองตันหยงมัส ส้มโชกุน และอื่นๆอีกมากมาย ที่ผ่านมาต้องรอลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าในพื้นที่ ทำไมเราไม่เอาของดีเหล่านั้นออกสู่ตลาดภายนอกให้มากขึ้น พรรคฯจึงเสนอที่จะจัดทำแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ เพื่อให้เกษตรกรเอาของดีที่มีอยู่ขายผ่านออนไลน์ ส่งออกไปนอกพื้นที่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  

ที่ผ่านมาคนไทยต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมที่สูงให้กับแพลตฟอร์มต่างชาติ จึงเป็นการดีกว่าที่จะมีแพลตฟอร์มของไทยเอง เป็นแพลตฟอร์มที่ไม่ได้มุ่งแสวงหากำไร แต่มุ่งช่วยยกระดับความรู้คนไทยให้เข้าสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล สร้างความพร้อมให้คนไทยและผู้ประกอบการไทย ก้าวไปขายบนแพลตฟอร์มระดับโลกต่อไป เท่านั้นยังไม่พอพรรคฯเสนอให้ทุกชุมชนในพื้นที่ต้องเข้าถึงสัญญาณอินเตอร์เน็ตอย่างทั่วถึง เพราะอินเตอร์เน็ตมีความจำเป็นทั้งด้านการศึกษาและเศรษฐกิจ ถือเป็นสาธารณูปโภคที่คนไทยพึงมีอย่างเท่าเทียมเพื่อให้ก้าวทันโลก  

นอกจากนี้การพัฒนาอุตสาหกรรมยังต้องยึดโยงการพัฒนาคน ให้มีความรู้ความสามารถเป็นแรงงานที่ตอบสนองภาคอุตสาหกรรม เรื่องนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญ เราต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ ไม่ว่าสาเหตุจะเกิดจากความขัดสนด้านการเงิน ความขัดสนด้านความรู้ข้อมูล ซึ่งต้องเริ่มที่การศึกษา ยกตัวอย่าง หากจะทำให้การศึกษาในพื้นที่มีประสิทธิภาพ ต้องเข้าใจว่าเด็กๆในพื้นที่เติบโตขึ้นมากับภาษาถิ่นมาลายู เราจึงต้องสนับสนุนให้มีหลักสูตรทวิภาษา รวมทั้งต้องให้เรียนฟรีถึงระดับปริญญาตรี นอกจากนี้พรรคฯยังมีนโยบายสนับสนุนคนเก่งด้วยการตั้ง “กองทุนการศึกษาพัฒนาบ้านเกิดเต็มพื้นที่” ส่งเสริมคนเก่งให้ได้เรียนสูงสุดถึงปริญญาเอก มีเงื่อนไขเพียงแค่ต้องเป็นสาขาที่ตอบสนองการพัฒนาพื้นที่บ้านเกิด 
ขณะเดียวกันการพัฒนาคน จำเป็นที่ต้องเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ที่ผ่านมาจากสถิติในนราธิวาสพบดัชนีการอยู่รอดของทารกและแม่ที่ตั้งครรภ์ต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดเราควรแก้ไขเรื่องนี้ พรรคฯมีนโยบายสวัสดิการ “ส่งเสริมสุขภาวะเด็กทั่วหน้า” เพื่อให้เด็กเติบใหญ่ขึ้นอย่างมีคุณภาพ โดยสนับสนุนงบประมาณตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เช่นช่วยเหลือการบำรุงครรภ์ ค่าคลอด และการดูแลทารก โดยส่งเงินถึงมือแม่ผ่านแอปพลิเคชั่น เพื่อให้การใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีนโยบายเพิ่มพูนทักษะให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อช่วยทำโครงการดูแลมารดาและทารกเต็มรูปแบบ ซึ่งที่ผ่านมาอสม.ได้รับการยกย่องว่าช่วยเหลือภารกิจรัฐได้อย่างดี การเพิ่มความรับผิดชอบนั้นก็ควรพิจารณาค่าตอบแทนที่สอดรับกับตัวชี้วัดความสำเร็จด้วยเช่นกัน 

แนวคิดทั้งหมดนี้ พรรคฯมองเห็นว่าจำเป็นต้องยึดโยงกับการกระจายอำนาจให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทมากขึ้น ในการกำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่ของท้องถิ่นเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การศึกษา รวมทั้งสาธารณสุข ดังที่ผมกล่าวมาข้างต้นว่า การพัฒนาในพื้นที่ที่มีความเป็นอัตลักษณ์สูง ต้องอยู่บนพื้นฐานความเคารพในพหุวัฒนธรรม และความมีส่วนร่วมในพื้นที่ โดยพรรคฯพร้อมร่วมกับพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศขับเคลื่อนแนวคิดนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศไทย มุ่งสู่การพัฒนาที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ได้อย่างแท้จริง