‘ปตท.’ ลุยศึกษา ‘กรีนไฮโดรเจน’ ต่อยอดธุรกิจพลังงาน - ลดคาร์บอน

‘ปตท.’ ลุยศึกษา ‘กรีนไฮโดรเจน’  ต่อยอดธุรกิจพลังงาน - ลดคาร์บอน

ปตท.จับมือซาอุดีอาระเบีย ลุยศึกษากรีนไฮโดรเจน ต่อยอดธุรกิจพลังงานทดแทนหวังเป็นฮับภูมิภาค ตั้งเป้า Net Zero ปี 2050 เล็งปลูกป่าเพิ่มอีก 1 ล้านไร่  บี.กริม ยกความสำคัญพัฒนาระบบนิเวศน์ สร้างสมดุลภาคธุรกิจ เล็งขยายการลงทุนพลังงานไปหลายภูมิภาคเป้า 1 หมื่นเมกะวัตต์ในปี 2030

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อเปิดแผนธุรกิจ สู่องค์กรยั่งยืน ในงานสัมมนา “Sustainability Forum 2023” จัดโดย "กรุงเทพธุรกิจ" วันนี้ (30 พ.ย.) ว่าเทรนด์ของเรื่องพลังงานจะไปสู่เรื่อง “Go green” และ “Go electric” มากขึ้น

ซึ่งเป็นการจัดการพลังงานสะอาดจากต้นทางคือ การผลิตไฟฟ้า หากสามารถที่จะจัดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้ก็จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศได้ดีขึ้น

ทั้งนี้การมุ่งไปสู่พลังงานสะอาด ปตท.มีเป้าหมายในการเป็นองค์กร “Net Zero” ในปี 2050 ซึ่งจะทำควบคู่ไปกับการมุ่งสู่ธุรกิจใหม่ๆ ที่ช่วย ส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นเป้าหมายของประเทศ เพราะ ปตท.เป็นองค์กรใหญ่ที่จะต้องช่วยประเทศไปสู่เป้าหมายของการลงทุน และสร้างงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

 “การมุ่งไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย ภาคเอกชนต้องเป็นผู้ที่ขับเคลื่อน จึงเป็นที่มาที่ ปตท.กำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ว่า power life with future energy and beyond ซึ่งช่วยใหม่ที่องค์กรใหญ่จะต้องมีบทบาทในการขับเคลื่อน ปตท.  จึงจะทำในเรื่องของทางพลังงานทดแทน และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และอุตสาหกรรม และธุรกิจใหม่ๆ เช่น ยา การขนส่ง รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น”

นอกจากรถยนต์ EV ที่รัฐบาลมีการตั้งนโยบาย 30@30  ปตท.ตั้งบริษัทอรุณพลัส โดยจับมือกับฟลอคอนซ์ จะเปิดโรงงานในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ของรถ EV ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย การเดินหน้าพลังงานทางเลือกอื่นๆ ปตท.ได้มีการจับมือกับประเทศซาอุดีอาระเบีย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการศึกษาว่าไทยจะสามารถเป็นศูนย์กลางของกรีนไฮโดรเจนของอาเซียน โดยไฟฟ้าที่นำมาแยกไฮโดรเจนคือ ไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสะอาด หากสำเร็จประเทศไทย จะเป็นฮับของกรีนไฮโดรเจนในภูมิภาคอาเซียน  

“ประเทศไทยมีพื้นที่ และศักยภาพ ในการที่จะทำพลังงานทดแทนมาก รวมถึงเรื่องของพลังงานไฮโดรเจน ปตท.ได้มีการลงนามความร่วมมือกับประเทศซาอุดีอาระเบีย ในการศึกษาเทคโนโลยี ‘กรีนไฮโดรเจน’ หากสำเร็จไทยจะเป็นฮับพลังงานกรีนไฮโดรเจนของภูมิภาคได้ในอนาคต แม้เราจะเป็นประเทศนำเข้าพลังงานแต่หากสามารถเพิ่มพลังงานทดแทนได้ เราก็จะยืนอยู่บนการพึ่งพาพลังงานของเราได้มากขึ้น” นายอรรถพล กล่าว

‘ปตท.’ ลุยศึกษา ‘กรีนไฮโดรเจน’  ต่อยอดธุรกิจพลังงาน - ลดคาร์บอน

ส่วนแผนการลดการปล่อยคาร์บอนของ ปตท.ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ ปตท.และบริษัทในเครือได้วางแผนลดการปล่อยคาร์บอนลงเรื่อยๆ โดยขณะนี้ทั้งกลุ่ม ปตท.มีการปล่อยคาร์บอนอยู่ที่ประมาณ กลุ่มปล่อยอยู่ที่ 45 ล้านตันต่อปี เป็นของบริษัท ปตท. 11 ล้านตัน ที่เหลือเป็นของบริษัทในกลุ่มซึ่งได้มีการทำแผนร่วมกันในการลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อช่วยลดค่าเฉลี่ยการปล่อยก๊าซคาร์บอนของประเทศลงด้วย

‘ปตท.’ ลุยศึกษา ‘กรีนไฮโดรเจน’  ต่อยอดธุรกิจพลังงาน - ลดคาร์บอน

นอกจากนี้ ปตท.ยังมีการผลักดันการใช้เทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน (CCS) และเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน และการนำมาใช้ประโยชน์ (CCU) โดยจะริเริ่มใน 1 โครงการจากที่มีการศึกษาอยู่ 4 โครงการ หากสามารถทำได้สำเร็จจะเริ่มขยายผลสู่โครงการอื่นๆ และเริ่มรวบรวมคาร์บอนฝนจากภาคตะวันออกไปกักเก็บได้

สำหรับโครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ และมีการดำเนินการดูแลต่อเนื่องมาโดยตลอด ปัจจุบันสามารถดูดซับคาร์บอนได้ 2.1 ล้านตันต่อปี  และปล่อยออกซิเจนได้  1.7 ล้านตันต่อปี และสร้างรายได้กว่า 280 ล้านบาทต่อปีจากภาคท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เกิดขึ้นถือว่าช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดย กลุ่ม ปตท.มีแผนจะปลูกป่าอีก 2 ล้านไร่ เป็นของบริษัท ปตท.เอง 1 ล้านไร่ และบริษัทในเครืออีก 1 ล้านไร่ เพื่อให้ช่วยดูดซับคาร์บอน และปล่อยก๊าซออกซิเจนออกสู่บรรยากาศ

นายอรรถพล กล่าวด้วยว่า แนวโน้มการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะลดลง เรื่อง ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่ยังมีความต้องการมาก โดยปริมาณการใช้ถ่านหินได้ผ่านจุดสูงสุดของความต้องการใช้มาแล้วตั้งแต่ปี 2015 ส่วนน้ำมันความต้องการสูงสุดจะอยู่ที่ปี 2033 แล้วค่อยๆ ลดลงส่วนก๊าซธรรมชาติยังโตได้ไปจนถึงปี 2040 เนื่องจากก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงช่วงเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานทดแทน

โดยการรักษาความยั่งยืนในเรื่องพลังงานมีความสำคัญใน 4 ประเด็นได้แก่ 

1.รักษาความสมดุลของแหล่งพลังงาน โดย ปตท.มีการรักษาความสมดุล และความหลากหลายของแหล่งพลังงานไว้ให้กับประเทศ โดยมีการกระจายแหล่งรับซื้อเชื้อเพลิง และการวางระบบโลจิสติกส์การขนส่งพลังงานทั้งทางเรือ และทางท่อก๊าซ ทำให้ประเทศมีความมั่นคงด้านพลังงาน 

2.การคำนึงถึงเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม

3.การรักษาความสมดุลเรื่องของสิ่งแวดล้อม และเรื่องเศรษฐกิจ

และ 4.การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (energy efficiency)  ซึ่งเป็นคีย์สำคัญในเรื่องของภาคพลังงานหากสามารถทำได้จะช่วยแก้ปัญหาของภาคพลังงานไปได้อีกมาก

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์