คลังยันภาษี ‘ขายหุ้น’ ลดเหลื่อมล้ำ - โบรกฯหวั่น’สภาพคล่อง’ ตลาดหุ้นไทยลด

ครม.อนุมัติกฎหมายการจัดเก็บภาษีการขายหุ้น หลังจากยกเว้นภาษีดังกล่าวเพื่อสนับสนุนตลาดหลักทรัพย์มาอย่างยาวนานถึง 40 ปี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ครม.อนุมัติกฎหมายการจัดเก็บภาษีขายหุ้น หลังจากยกเว้นภาษีดังกล่าวเพื่อสนับสนุนตลาดหลักทรัพย์มาอย่างยาวนานถึง 40 ปี โดย ครม.อนุมัติในหลักการให้ยกเลิกการยกเว้นดังกล่าว เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษี สำหรับคนที่ซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ กับคนที่ไม่ได้มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

สำหรับอัตราภาษีที่เพดานสูงสุดกำหนดไว้ไม่เกิน 0.11% เมื่อรวมภาษีท้องถิ่นแล้วจะเป็นเท่าไหร่นั้นจะต้องรอคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจร่างกฎหมายนี้ก่อน ซึ่งหลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างกฎหมายเสร็จแล้ว หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ครม.จะอนุมัติร่างกฎหมาย และนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ หลังจากลงประกาศในร่างกิจจานุเบกษาแล้ว 3 เดือน

ทั้งนี้ ในกรณีการซื้อขายหุ้นผ่าน Market Maker ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนประกันสังคม จะได้รับการยกเว้นภาษีตัวนี้ เนื่องจากเป็นกองทุนขนาดใหญ่ ที่ช่วยสร้างสภาพคล่องให้กับตลาดหลักทรัพย์

การจัดเก็บภาษีตัวนี้กรมสรรพากร จะจัดเก็บจากการขายหุ้นตั้งแต่บาทแรก ของรายได้จากการขาย ซึ่งคาดว่ากรมสรรพากรจะมีรายได้จากภาษีนี้ 15,000-16,000 ล้านบาท ในกรณีจัดเก็บภาษีตัวนี้ในอัตรา 0.11 % โดยรายย่อยจะได้รับผลกระทบไม่มากเท่ารายใหญ่ ซึ่งต้องดูนักลงทุนอีกครั้งเพราะมีหลายประเภท เช่น นักลงทุนต่างชาติ สถาบันด้วย”

ในปีแรกของการจัดเก็บภาษีตัวนี้ คือในปี 2566 กระทรวงการคลัง จะจัดเก็บภาษีในอัตรา 0.055% (รวมภาษีท้องถิ่นแล้ว) และในปีถัดมาคือปี 2567 จะจัดเก็บ เต็มเพดานที่กฎหมายกำหนดคือ 0.11% ทั้งนี้ การยื่นแบบชำระภาษี จะเป็นหน้าที่ของ Broker ที่เป็นตัวแทนของผู้ขายโดยกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วันหลังประกาศใช้เพื่อให้นักลงทุนรับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง คาดว่าเริ่มใช้ไตรมาส 2 ปี 2566

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า การเก็บภาษีขายหุ้นดังกล่าวแน่นอนว่าจะกระทบในกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ ที่ส่วนใหญ่เป็นประเภท Program Treading (PT) คิดเป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 30-40% ของยอดเทรดหุ้นไทยนักลงทุนกลุ่มนี้ เน้นลงทุนเป็นปริมาณที่มากและถี่ เมื่อมีการเก็บภาษีดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนในการเทรดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว อาจทำให้การลงทุนไม่คุ้มค่า

จากการประเมินเบื้องต้น มูลค่าซื้อขายในตลาดหุ้นไทย มีโอกาสลดลง 30-40% ในระยะถัดๆ ไป ด้วยภาระต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้นักลงทุนกลุ่มดังกล่าวที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ คงต้องเปลี่ยนนโยบายการลงทุนหรือเปลี่ยนประเทศอื่นแทน แต่การเปลี่ยนนโยบายการลงทุนคงทำไม่ได้ทันที ดังนั้นผลกระทบในระยะสั้นจะเห็นวอลุ่มเทรดคงค่อยๆ ปรับลดลงไม่ได้ลดลงแรงทันทีในปีแรก

สิ่งที่กังวลและเสียดาย คือ “สภาพคล่องของตลาดหุ้นไทยที่ลดลง”เพราะสภาพคล่องที่ลดลงไปย่อมส่งผลกระทบไปหมด เพราะการซื้อขายหุ้นไทยคงไม่สะดวกไม่คล่องตัวเท่าเดิมและเป็นห่วงในเรื่องขีดความสามารถการแข่งขันตลาดหุ้นไทยลดลง เพราะหลังจากนี้ยังต้องพัฒนาอีกมาก เช่น การใช้เป็นแหล่งระดมทุนของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะการระดมทุนธุรกิจ S-Curve และสตาร์ตอัป คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ไม่คล่องตัวตามไปด้วย

อีกทั้ง ช่วงเวลาของการประกาศใช้ภาษีดังกล่าว ค่อนข้างเซอร์ไพร์ส และไม่เหมาะสม เพราะเรากำลังอยู่ในภาวะของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวค่อนข้างรุนแรง มีแต่ข่าวลบและสภาพคล่องทั่วโลกที่ลดลง

ในขณะที่ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยกำลังอยู่ในจุดที่ได้เปรียบดึงดูดเงินทุนต่างชาติเข้ามาจากท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัวดี แต่เมื่อมีการเก็บภาษีดังกล่าว มองว่า ยิ่งเป็นการเพิ่มข้อจำกัดการลงทุนให้กับนักลงทุนที่จะสามารถเข้าถึงตลาดหุ้นไทยได้มากขึ้น