'วราวุธ' ย้ำธุรกิจใช้โมเดล BCG สร้างแต้มต่อ

การปรับตัวของประเทศไทยและผู้ประกอบการไทยสู่ธุรกิจBCG และการนำแนวทาง ESG มาใช้เพื่อความยั่งยืน ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วราวุธ ศิลปอาชา ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การปรับตัวของประเทศไทยและผู้ประกอบการไทยสู่ธุรกิจBCG และการนำแนวทาง ESG มาใช้เพื่อความยั่งยืน ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ระบุว่ารัฐบาลไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว มาเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคงและมุ่งสู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงเจตนารมณ์ไว้กับนานาชาติในปี 2564 เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สำหรับโมเดล BCG มองไปไกลกว่าผลกำไรของภาคธุรกิจ แต่ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่สมดุลต่อสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภค และพนักงานในองค์กร ไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลัง โดยภาคธุรกิจเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเพื่อไปสูเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

นอกจากนี้ โมเดล BCG จะเกี่ยวข้องกับครึ่งหนึ่งของการจ้างงานใน 4 สาขาอาชีพ ได้แก่ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงานชีวภาพ และการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจ BCG จะเพิ่มเป็น 25% ของจีดีพีไทยในอนาคต 

สำหรับภาคเอกชนได้ขานรับนโยบาย BCG ด้วยการขับเคลื่อนตามแนวคิด ESG ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน  โดยเป็นการทำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และมีธรรมาภิบาล  การลงทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ปัจจภาคธุรกิจต้องเปลี่ยนวิธีคิดให้สอดคล้องกับทิศทางและสถานการณ์ดังกล่าว ไม่เช่นนั้นเราจะทำงานกับนานาชาติได้ยาก เพราะขณะนี้หลาย ๆ ประเทศเริ่มตั้งกำแพงภาษีเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่นในยุโรปที่จะทดลองใช้กำแพงภาษีตัวใหม่ที่เรียกว่า Carbon Boarder Adjustment Mechanism (CBAM) กับการนำเข้าสินค้า 5 ชนิดในปีหน้า ส่งผลให้สินค้าแต่ละชนิดต้องมีฉลากคาร์บอนฟุตปริ้นท์ไม่เกิดที่กำหนด มิเช่นนั้นต้องเสียภาษีเพิ่ม ที่น่ากลัวคือ ต่อไปกำแพงภาษีนี้จะเกิดขึ้นในอเมริกา แคนาดา และอีกหลายประเทศๆ  รวมถึงอาจครอบคลุมสินค้าส่งออกหมวดอื่น ๆ ที่มีผลกระทบกับประเทศไทยมากขึ้น เช่น ภาคการเกษตร เพราะฉะนั้นถ้าจะค้าขายกับนานาชาติ ผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดและแนวทางการทำธุรกิจ

ที่ผ่านมาในการประชุมสำคัญของโลกก็มุ่งสู่ประเด็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถือเป็นเทรนด์ของโลก จึงไม่อยากให้ทุกคนเห็นว่าเรื่องนี้เป็นภาระแต่เป็นต้นทุนที่สำคัญทางธุรกิจ ที่เป็นโอกาสและแต้มต่อทางธุรกิจมากกว่า