7 หมุดหมาย 3 เครื่องมือ 9 มาตรการ ‘นฤตม์’ ตั้งเป้าพา ‘บีโอไอ’ สร้างเศรษฐกิจไทย

7 หมุดหมาย 3 เครื่องมือ 9 มาตรการ ‘นฤตม์’ ตั้งเป้าพา ‘บีโอไอ’ สร้างเศรษฐกิจไทย

เลขาฯบีโอไอวาง 7 หมุดหมาย 3 เครื่องมือเดินหน้า พลิกโฉมการลงทุนไทย เน้นอุตสาหกรรมต้นน้ำ ไบโอเทคฯ นาโนฯ วัสดุขั้นสูง ให้สิทธิประโยชน์สูงสุด 15 ปี ชิงความได้เปรียบคู่แข่งปูทางอุตสาหกรรมในอนาคต  เตรียมออกประเทศการส่งเสริม มาตรการส่งเสริมการลงทุรชุดใหม่มีผล 3 ม.ค. ปี 2566

พัฒนาการในการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทยถือว่ามีพลวัตเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ และนโยบายที่เกิดจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ตั้งแต่ยุคการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า สู่ยุคการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างเทคโนโลยี และนวัตกรรม มาสู่ยุคของการสร้าง “เศรษฐกิจใหม่” ของประเทศให้มีความเข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน  

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์  เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าปัจจุบันสถานการณ์ของโลกมีความท้าทายหลายด้าน  ทั้งความขัดแย้งระหว่างประเทศ โรคระบาด ทำให้เกิดการดิสรับของซัพพายเชน ขณะเดียวกันทั่วโลกมีโจทย์ร่วมกันในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ ทำให้องค์กรธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะองค์กรใหญ่ๆ ต้องให้ความสำคัญกับสิ่งที่สำคัญใน 3 เรื่องได้แก่ การลงทุนในฐานการผลิตที่หลากหลาย การลงทุนเพื่อการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการใช้ระบบการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยที่เป็น Smart Manufacturing มากขึ้น

โดยในการตัดสินใจของนักลงทุนในปัจจุบันให้ความสำคัญกับเรื่องของสงครามการค้า ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ความยืดหยุ่นของซัพพายเชน ความสามารถในการบริหารจักการภาวะวิกฤตที่จะไม่กระทบภาคธุรกิจและการผลิต รวมทั้งความสามารถของแต่ละประเทศในการจัดหาพลังงานหมุนเวียนที่เป็นพลังงานสะอาดด้วย

7 หมุดหมาย 3 เครื่องมือ 9 มาตรการ ‘นฤตม์’ ตั้งเป้าพา ‘บีโอไอ’ สร้างเศรษฐกิจไทย

"ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบของประเทศไทยที่มีข้อได้เปรียบที่เป็นจุดแข็งใหม่ที่ช่วยส่งเสริมการตั้งฐานการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน นอกจากเรามีโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูงและพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมอนาคตเช่นในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งมาตรการให้วีซ่าระยะยาว ทั้ง LTR และ Smart Visa รวมทั้งความสามารถจัดหาพลังงานสะอาดให้กับ ภาคอุตสาหกรรม  รวมทั้งมีความยืดหยุ่นรองรับวิกฤต ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับความชื่นชมในการบริหารจัดการช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่โรงงานต่างๆยังสามารถผลิตได้ ทำให้มีหลายบริษัทที่ตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยเพิ่มเติมจากความสามารถในการจัดการวิกฤติส่วนนี้”

 

นายนฤตม์ กล่าวต่อว่าจากจุดแข็ง และโอกาสของประเทศไทยที่บีโอไอได้มีการวิเคราะห์อย่างรอบด้านจึงทำให้ให้มองเห็น “โอกาส” ของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในหลายๆธุรกิจ และอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมเทคโนโลยี BCG อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ธุรกิจโลจิสติกส์และการขนส่ง รวมถึงสามารถเป็นศูนย์กลางของการการดึงดูดกลุ่มแรงงานที่มีความสามารถและทักษะสูง (Talent hub) ที่จะเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยระยะยาวในประเทศไทย ซึ่งการเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมและธุรกิจในภูมิภาคนี้จะช่วยสร้าง “เศรษฐกิจใหม่” และ “อนาคต” ที่ดีให้กับคนในรุ่นต่อไป

7 หมุดหมาย 3 เครื่องมือ 9 มาตรการ ‘นฤตม์’ ตั้งเป้าพา ‘บีโอไอ’ สร้างเศรษฐกิจไทย

บีโอไอได้มีการยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ.2566 - 2570) ประกอบไปด้วย 7 หมุดหมาย และ 3 เครื่องมือในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้สำเร็จ โดยในส่วนของ 7 หมุดหมาย ประกอบไปด้วย

1) ปรับโครงสร้าง อุตสาหกรรม และ สร้างความเข้มแข็ง Supply Chain

2)เร่งเปลี่ยนผ่าน อุตสาหกรรมไปสู่ Smart & Sustainable

3)ผลักดันไทยเป็น ศูนย์กลางธุรกิจ ระหว่างประเทศ และประตู การค้าการลงทุน ของภูมิภาค

4)ส่งเสริม SMEs & Startup ให้เข้มแข็งและ เชื่อมต่อกับโลก

5) ส่งเสริมการลงทุน ตามศักยภาพพื้นที่ เพื่อสร้างการเติบโต อย่างทั่วถึง

6) ส่งเสริมการลงทุนเพื่อชุมชนและสังคม

และ 7) ส่งเสริม การลงทุนไทย ในต่างประเทศ เพื่อขยาย โอกาสทางธุรกิจ

ในส่วนของเครื่องมือทั้ง 3 ส่วนที่บีโอไอจะใช้ในการส่งเสริมการลงทุนประกอบไปด้วย

1) สิทธิประโยชน์ ปัจจุบันจะไม่ได้มุ่งเน้นแค่เพียงใช้เครื่องมือทางภาษีเป็นสิทธิประโยชน์ แต่จะเป็นในลักษณะแพคเกจ ที่มีทั้งมาตรการทางภาษี มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี และมาตรการให้การสนับสนุนทางการเงินในกรณีที่มีการเจรจากับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเทคโนโลยีเฉพาะ หรือกลุ่มสตาร์ทอัพที่อยู่ในระดับซีรี่ย์ A สามารถขอสนับสนุนเงินจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ใหม่ที่ได้มีการออกมาเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการส่วนนี้ด้วย

 

2) การให้บริการแบบครบวงจร ทั้งก่อน-หลังการลงทุน เพื่อให้นักลงทุนได้รับความสะดวกมากขึ้นในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย  

โดยบทบาทใหม่ของบีโอไอไม่ใช่แค่เป็นหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนแต่ยังเป็นทั้ง “Promoter” คือเป็นผู้ขับเคลื่อนและส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ และบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งเป็น “Integrator” ผู้บูรณาการเครื่องมือสนับสนุนของภาครัฐ ทั้งด้านภาษี การเงิน และ Non-tax อื่นๆ ในลักษณะ Whole Package

ขณะเดียวกันบีโอไอก็ต้องเป็น “Facilitator” คือผู้ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนา Ecosystem และการอำนวย ความสะดวกในการลงทุน (Ease of Investment) รวมทั้งการแก้ไขปัญหา/อุปสรรคต่างๆ และเป็น “Connector” คิอเป็นผู้เชื่อมโยงผู้ประกอบการรายใหญ่-รายเล็ก ไทย-ต่างชาติ  เชื่อมโยงข้ามอุตสาหกรรม และข้ามพื้นที่ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจด้วย

7 หมุดหมาย 3 เครื่องมือ 9 มาตรการ ‘นฤตม์’ ตั้งเป้าพา ‘บีโอไอ’ สร้างเศรษฐกิจไทย

และ 3) การสร้างสภาพแวดล้อม และการอำนวยความสะดวกในขั้นตอนการจัดตั้งธุรกิจ เพื่อลงทุนในประเทศไทย (Ecosystem and Ease of Investment) เช่น การส่งเสริมให้มีการตั้งสถาบันวิจัย การดึงเอาแรงงานที่มีทักษะและความสามารถสูงเข้ามาทำงานในประเทศ และการสนับสนุนให้มีการตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามชาติ (International Headquarters) ของบริษัทชั้นนำในประเทศไทยมากขึ้น

นอกจากนี้บีโอไอกำลังจะมีการออกประกาศการส่งเสริมการลงทุน ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริม การลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ซึ่งมาตรการ และสิทธิประโยชน์ได้มีการผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา และมาตรการจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป

ดยมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ 9 มาตรการ ประกอบไปด้วย นั้นมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยในส่วนของมาตรการนี้บีโอไอได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำซึ่งจะมีความสำคัญต่อการผลิตอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งได้มีการจัดกลุ่มสิทธิประโยชน์สูงสุดเป็นกลุ่ม “A1+” ได้แก่ อุตสาหกรรมต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง และกิจการพัฒนา เทคโนโลยีเป้าหมาย (Biotech, Nanotech, Advanced Material Tech) โดยมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกับสถาบันการศึกษา/วิจัยในประเทศไทย ซึ่งบริษัทที่จะลงทุนสามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้ 2 ช่องทางทั้งจากช่องทางปกติของบีโอไอ และช่องทางการเจรจาโดยช่องทางการเจรจาจะได้สิทธิประโยชน์สูงสุดได้ถึง 15 ปี และสามารถขอใช้เงินสนับสนุน (Grant) จากเงินกองทุนฯเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถได้  แต่อยู่บนเงื่อนไขว่าต้องสร้างผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ประเทศไทยด้วย

 

บีโอไอยังมีการเปิดกิจการที่ให้มีการส่งเสริมใหม่ เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ กิจการเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า เช่น การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicles : FCEV) ที่เหมาะกับเทคโนโลยีขนาดใหญ่          

 

การผลิตอุปกรณ์สำหรับระบบเซลล์เชื้อเพลิง สถานีบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping Station) กิจการเกี่ยวกับพลังงานใหม่ เช่น การผลิตไฮโดรเจนจากน้ าโดยใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง เช่น Green Ammonia การผลิตไฮโดรเจนจากไฮโดรคาร์บอนหรือเชื้อเพลิงฟอสซิล และการผลิตพลังงานไฟฟ้า/ไอน้ำจาก ไฮโดรเจน กิจการผลิตอาหารแห่งอนาคต เช่น Novel Food Organic Food อาหารที่มี Health Claim

กิจการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอวกาศ  เช่น การผลิตอุปกรณ์ซ่อมบำรุง และงานบริการภาคพื้น การผลิตชิ้นส่วน Mechanical / Electronic Parts สำหรับดาวเทียมหรือวัตถุอวกาศรูปแบบต่างๆ การพัฒนาระบบหรือซอฟต์แวร์ เกี่ยวกับดาวเทียมและสถานีภาคพื้นดิน บริการนำส่งวัตถุสู่อวกาศ (Launching Services) หรือกิจการผลิตระบบควบคุม ภารกิจนำส่ง เป็นต้น

ส่วนกลุ่มมาตรการส่งเสริมการลงทุนอื่นๆมีการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการ มาตรการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน มาตรการรักษาและขยายฐานการผลิตเดิม (Retention & Expansion Program) มาตรการส่งเสริมการย้ายฐานธุรกิจแบบครบวงจร (Relocation Program) มาตรการกระตุ้นการลงทุนในระยะฟื้นฟูเศรษฐกิจ มาตรการยกระดับอุตสาหกรรม (Smart & Sustainable Industry) มาตรการส่งเสริมการลงทุน SMEs  

มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย และ มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม ซึ่งบีโอไอต้องการให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอมีบทบาทในการเข้าไปทำโครงการเพื่อพัฒนาชุมชน และสังคมด้วย แต่ไม่ใช่มาตรการในการแจกเงินและบริจาค ให้กับชุมชนแต่ต้องมีบทบาทการส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับแนวโน้มการส่งเสริมลงทุนในช่วงปี 2565 – 2566  บีโอไอยังให้ความสำคัญกับเทรนด์การลงทุนของโลก โดยมีอุตสาหกรรมและธุรกิจที่คาดว่าจะขอส่งเสริมรับการลงทุนทั้งจากผู้ประกอบการไทย และต่างชาติ ได้แก่ โดยการลงทุนของผู้ปะกอบการไทย ในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวชัดเจนจากสถานการณ์การโควิด -19 ได้แก่ การลงทุนในสาขาเกษตรและอาหาร ดิจิทัล  เคมีและปิโตรเคมี อุตสาหกรรมชีวภาพ การแพทย์ การผลิตพลังงานไฟฟ้า  ธุรกิจโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุน ส่วนการสนับสนุนมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย บีโอไอจะให้สิทธิประโยชน์กับเขตเศรษฐกิจพิเศษในระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาคตามนโยบายของรัฐบาล โดยให้สิทธิประโยชน์เทียบเท่าพื้นที่อีอีซีเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุน

ส่วนต่างชาติการลงทุนจะอยู่ในสาขา ยานยนต์ไฟฟ้า (EV)  อิเล็กทรอนิกส์  ดิจิทัล  เคมีและปิโตรเคมี อุตสาหกรรมชีวภาพ  เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ  และอากาศยานและชิ้นส่วน โดยในปีนี้ในส่วนของรถ EV นั้นประเทศไทยถือว่าสร้างปรากฎการณ์ให้แก่โลกเพราะว่ามีความต้องการรถจำนวนมาก ประชาชาชนให้การตอบรับเป็นอย่างดีทำให้มีค่ายรถอีกจำนวนมากที่เข้ามาติดต่อกับบีโอไอเพื่อหารือถึงการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

ซึ่งมีทั้งค่ายรถยนต์ไฟฟ้าของจีน ค่ายรถยนต์ญี่ป่นและในยุโรปสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งนอกจากการส่งเสริมให้มีการลงทุนในการผลิตรถ EV แล้วยังต้องส่งเสริมการผลิตโรงงานผลิตแบตเตอรี่ รวมทั้งกลุ่มสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นชิ้นส่วนที่สำคัญของรถ EV เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถ EV แบบครบวงจร