3 หน่วยงานรัฐแนะรื้อ 'ประกันรายได้' ห่วงภาระการคลังระยะยาว              

3 หน่วยงานรัฐแนะรื้อ 'ประกันรายได้' ห่วงภาระการคลังระยะยาว               

3 หน่วยงานรัฐประสานเสียงแนะรัฐบาลปรับปรุงโครงการประกันรายได้ เหตุใช้งบประมาณสูงต่อเนื่อง เป็นภาระการคลังระยะยาว คลัง - สำนักงบฯแนะทำโครงการเข้างบประมาณปกติ ลดภาระดอกเบี้ย ชี้ใช้ช่องมาตรา 28 มีปัญหาการจัดสรร กระทบงบประมาณส่วนอื่นรวมทั้งกระทบงบกลาง

โครงการประกันรายได้เกษตรผู้ปลูกข้าว พร้อมมาตรการคู่ขนาน รวมทั้งมาตรการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรผู้ปลูกข้าว เป็นโครงการที่รัฐบาลดำเนินการมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดที่ประชุม ครม.ล่าสุดวันที่ 15 พ.ย.2565 เห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ วงเงินรวมกว่า 8.2 หมื่นล้านบาท มีชาวนาที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 4.7 ล้านครัวเรือน กรมการค้าภายในในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ระบุว่าชาวนาจะได้รับส่วนต่างเงินประกันรายได้ข้าวงวดแรกประมาณวันที่ 22  พ.ย.ที่จะถึงนี้

แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์จะระบุว่าการจ่ายส่วนต่างข้าวที่มีการประเมินไว้ไม่ได้ใช้งบประมาณเต็มจำนวนที่ขอวงเงินไว้เนื่องจากราคาข้าวปรับตัวดีขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาโครงการประกันรายได้เกษตรผู้ปลูกข้าว และมาตรการคู่ขนานมีการขอใช้เงินงบประมาณสูงมากทุกปีรวม 4 ปีขอใช้วงเงินงบประมาณไปเกือบๆ 4 แสนล้านบาท ได้แก่

1.ปีการผลิต 2562/63 รัฐอนุมัติงบประกันรายได้และมาตรการคู่ขนาน รวม 76,049 ล้านบาท

2. ปีการผลิต 2563/64 รัฐอนุมัติงบประกันรายได้และมาตรการคู่ขนาน รวม 106,740 ล้านบาท

3.ปีการผลิต 2564/65 รัฐอนุมัติงบประกันรายได้และมาตรการคู่ขนานรวม 138,456 ล้านบาท

และ ในปีการผลิต 2565/66 รัฐอนุมัติงบประกันรายได้และมาตรการคู่ขนานรวมเบื้องต้นเป็นเงินกว่า 81,266 ล้านบาท

 

 การใช้วงเงินงบประมาณที่มากขนาดนี้ทำให้เกิดปัญหาในการบริหารงบประมาณเพราะวงเงินดังกล่าวรัฐบาลต้องบริหารจัดการโดยการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์อนุมัติโครงการผ่านคณะกรรมการ (บอร์ด) เพื่อจ่ายเงินไปให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการซึ่งเป็นลูกค้า ธกส.ก่อน แล้วรัฐบาลจะจ่ายเงินคืนให้ภายหลังพร้อมกับดอกเบี้ยให้กับ ธกส.ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในบางปีที่การดำเนินการในลักษณะนี้ติดเพดาน มาตรา 28 ตาม พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะปี 2561

 

โดยเฉพาะปีล่าสุดที่ นบข.ได้มีการขอกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อดำเนินมาตรการนี้ในชั้นแรกสูงถึง 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมต้องมอบหมายให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังไปหารือกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ถึงกรอบงบประมาณที่จะสามารถจัดสรรให้โครงการนี้ได้ทำให้มาตรการนี้เข้า ครม.ล่าช้าไปกว่า 1 เดือน จากกำหนดเดิมที่จะต้องเข้า ครม.และจ่ายเงินให้กับชาวนางวดแรกตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้แม้ว่าโครงการประกันรายได้ชาวนาจะผ่านความเห็นชอบของ ครม.ให้ดำเนินการในปีนี้ แต่เมื่อดูจากความเห็นหน่วยงานราชการที่ทำความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม.ในครั้งนี้อย่างน้อย 3 กระก็เห็นถึงข้อทักท้วงที่เป็นประโยชน์ และรัฐบาลควรจะรับฟังหากจะมีการปรับเปลี่ยนแนวทางของโครงการนี้ในอนาคตก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

1.สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าสำหรับข้อเสนอโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมมาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการแล่ะพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต  2565/2566 ที่ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายและบริ่หารข้าวแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 แล้วนั้น ควรมีการพิจารณากรอบวงเงินงบประมาณให้เป็นไปตามกรอบของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ทั้งนี้ในระยะยาว ควรมีการทบทวน ความจำเป็นในการดำเนินมาตรการของรัฐและมีประสิทธิภาพในการรักษาเสถียรภาพราคาเพื่อลดภาระงบประมาณของรัฐในการดำเนินงานจากโครงการนี้

2.กระทรวงการคลัง ระบุว่า ตามมาตรา 25 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 บัญญัติว่า

ในการมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ โดยรัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าใช้จ่าย การสูญเสียรายได้ในการดำเนินงานนั้น คณะรัฐมนตรี ต้องพิจารณาผลกระทบต่อการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐซึ่งได้รับมอบหมายนั้นด้วย และแนวทางการบริหารจัดการภาระทางการคลังของรัฐและผลกระทบจากการดำเนินการ ดังกล่าว

ดังนั้น หากมีการดำเนินโครงการดังกล่าว เห็นควรเสนอ ครม.พิจารณา มอบหมายสำนักงบประมาณพิจารณาการจ่ายเงินชดเชยคืนให้กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหการณ์ (ธ.ก.ส.) โดยเร็ว เพื่อมิให้การดำเนิน มาตรการหรือโครงการที่รัฐบาลมอบหมายกระทบถึงฐานะของความมั่นคงทางการเงินของ ธ.ก.ส. รวมทั้งเพื่อเป็นการลดภาระการชดเชยในส่วนของดอกเบี้ยที่ภาครัฐต้องจ่ายให้กับ ธ.ก.ส. โดยเฉพาะในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

นโยบายประกันรายได้เป็นนโยบายที่แถล่งต่อรัฐสภาซึ่งผูกพันต่อรัฐบาลและมีการดำเนินการเป็นประจำ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความโปร่งใส่ทางด้านการคลัง หากกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในเห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการต่อในปีงบประมาณ 2567  ก็ควรบรรจุโครงการรัฐดังกล่าวในการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอนปกติเพื่อไม่ให้เกิดค่าใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่จำเป็น เช่น ภาระดอกเบี้ยที่รัฐบาลต้องจ่ายให้กับ ธ.ก.ส. เป็นต้น

และ 3.สำนักงบประมาณ ให้ความเห็นว่าเนื่องจากโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว มาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุน

ค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/2566  เป็นการบรรเทาปัญหาให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ปลายเหตุในระยะสั้น เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเป็นไปอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ โดยไม่ก่อให้เกิดภาระงบประมาณต่อเนื่อง

ในระยะยาว เห็นสมควรมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุโดยพัฒนาด้านการผลิต เพื่อให้การผลิตข้าวของเกษตรกรได้ผลผลิตที่มีปริมาณมาก คุณภาพสูง ใช้ต้นทุนต่ำ มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ปลอดภัย ตรงกับความต้องการของตลาด ตลอดจนกำหนดมาตรการส่งเสริม การปลูกข้าวแต่ละชนิดตามความเหมาะสมของพื้นที่ (Zoning) และลดพื้นที่การเพาะปลูกข้าว ในเขตพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม เพื่อลดอุปทานส่วนเกินจากการผลิตข้าว ซึ่งมีผลให้ราคาผลผลิตข้าวตกต่ำ

ทั้งนี้ ในการกำหนดโครงการเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ควรเป็นมาตรการที่เสริมสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มผลิตภาพการเพาะปลูกข้าวและปรับโครงสร้างการปลูกพี่ชที่เหมาะสม ไม่ควรดำเนินโครงการ ให้มีความต่อเนื่องจนทำให้เกษตรกรละเลยการปรับปรุงคุณภาพผลผลิต ในการจัดทำข้อเสนอโค่รงการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร และประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ในลักษณะรัฐสวัสดิการ ซึ่งรวมถึงมาตรการการสร้างหลักประกันรายได้ การรักษาเสถียรภาพของราคา การให้เงินอุดหนุนแบบให้เปล่า หน่วยงานที่จัดทำโครงการ ควรพิจารณาโครงการเท่าที่จำเป็น อย่างเหมาะสม โดยจะต้องคำนึงถึงแหล่งเงินสำหรับสนับสนุน การดำเนินโครงการ

เนื่องจากมีข้อจำกัดของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี  และงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นมีความจำเป็นต้องสำรองไว้เพื่อเป็น ค่าใช้จ่ายในการเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติ ป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์ ที่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อย และเตรียมไว้สำหรับการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่เกิดขึ้นและใช้จ่ายตามสภาพเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมีได้คาดหมาย จำเป็นต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าหน่วยงานจะเสนอขอใช้แหล่งเงินสำหรับการดำเนินโครงการผ่านมาตรการกึ่งการคลังตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แต่ก็จะก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลต้องรับภาระชดเชย โดยมีภาระ ดอกเบี้ยจากต้นทุนเงินที่ต้องจ่ายให้กับหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการ อันเป็นภาระทางการคลังของภาครัฐต่อเนื่องในระยะยาว