เศรษฐกิจโลกพ่นพิษบริษัทชั้นนำแห่ปลดคน

เศรษฐกิจโลกพ่นพิษบริษัทชั้นนำแห่ปลดคน

เศรษฐกิจโลกพ่นพิษบริษัทชั้นนำแห่ปลดคน โดยการปลดพนักงานของอเมซอนส่งผลกระทบหนักที่สุดกับแผนกธุรกิจอุปกรณ์อันได้แก่ ระบบผู้ช่วยเสมือนและแผนกลำโพง

หลังเกิดกระแสปลดพนักงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีไปแล้วหนึ่งระลอก ตอนนี้เกิดกระแสปลดพนักงานในบริษัทชั้นนำโลกหลายแห่งรวมทั้งธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ และธุรกิจการเงิน เพราะผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว กำลังซื้อหดหายจากปัญหาค่าครองชีพในแต่ละประเทศเพิ่มขึ้น

บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง อเมซอน ต้องพ่ายต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เมื่อสถานการณ์กลับคืนสู่ช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องรับมือด้วยการปลดพนักงานราว 10,000 คน โดยบริษัทจะเริ่มลดคนอย่างเร็วที่สุดในสัปดาห์นี้

อเมซอน บริษัทค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่ที่สุดของโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน ประกาศว่าจะปลดพนักงานประมาณ 10,000 ตำแหน่ง โดยจะเริ่มตั้งแต่สัปดาห์นี้ ส่งผลให้ราคาหุ้นดิ่งลงทันที 1.33% สู่ระดับ 99.44 ดอลลาร์

อเมซอน กลายเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันขนาดใหญ่รายล่าสุด ที่ปลดพนักงานตามหลังเมตา กับทวิตเตอร์ ซึ่งในกรณีของอเมซอน เป็นการเตรียมรับมือกับการเติบโตที่ช้าลง และภาวะถดถอยที่อาจเกิดขึ้นได้

เศรษฐกิจโลกพ่นพิษบริษัทชั้นนำแห่ปลดคน

การปลดพนักงานครั้งนี้ ยังเป็นครั้งใหญ่ที่สุดของอเมซอน นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท และบุคลากรที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดอยู่ในฝ่ายธุรกิจอุปกรณ์ คือ ระบบผู้ช่วยเสมือน กับแผนกลำโพง เนื่องจากประสบภาวะขาดทุนปีละ 5,000 ล้านดอลลาร์ ตามด้วยแผนกค้าปลีก และทรัพยากรบุคคล

การปลดพนักงานประมาณ 10,000 คนครั้งนี้  คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของจำนวนพนักงานอเมซอนที่มีทั่วโลก ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. ปี 2564 ระบุว่า อเมซอนมีพนักงานที่ทำงานเต็มเวลาทั่วโลกทั้งสิ้นประมาณ 1.6 ล้านคน

ถือเป็นการทยอยปลดพนักงานของบรรดายักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมไอที ที่เคยได้ชื่อว่ารุ่งเรืองสุดขีด ตั้งแต่เมตา บริษัทแม่ของแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม ที่ประกาศปลดพนักงานมากกว่า 11,000 คน

“มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ระบุในจดหมายถึงพนักงานว่า “วันนี้ ผมขอแจ้งข่าวความเปลี่ยนแปลงครั้งที่ยากลำบากที่สุดที่เราเคยดำเนินการมาในประวัติศาสตร์ของเมตา ผมได้ตัดสินใจลดขนาดทีมของเราลงประมาณ 13% และยอมปล่อยลูกจ้างที่มีความสามารถกว่า 11,000 คนของเราไป”

พนักงานบริษัทเมตาที่ถูกปลดจะได้รับการช่วยเหลือในด้านต่างๆ ทั้งการจ่ายชดเชยพนักงาน 4 เดือน ประกันสุขภาพเป็นระยะเวลา 6 เดือน และจัดศูนย์ช่วยเหลือด้านการจัดหางานใหม่ให้พนักงานที่ถูกปลดออกในครั้งนี้

อเมซอนใช้เวลาส่วนใหญ่ในปีนี้ ปรับตัวให้เข้ากับการเติบโตที่ชะลอตัวอย่างมากของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เนื่องจากผู้ซื้อกลับไปมีพฤติกรรมแบบเดิม ก่อนที่จะเกิดโรคระบาด ทำให้บริษัทต้องชะลอการเปิดคลังสินค้าและระงับการจ้างงานในกลุ่มค้าปลีก ก่อนจะขยายขอบเขตทั่วทั้งบริษัท

การประกาศปลดพนักงานของอเมซอน มีขึ้นในช่วงเดียวกับที่บริษัทซี จำกัด (Sea Ltd.) บริษัทเกมและค้าปลีกออนไลน์ เจ้าของธุรกิจช้อปปี้จากสิงคโปร์ ประกาศปลดพนักงานประมาณ 7,000 ตำแหน่ง หรือประมาณ 10% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดตลอดช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเพื่อลดภาวะขาดทุน และเพื่อดึงดูดให้นักลงทุนกลับเข้าลงทุน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากแหล่งข่าวว่า ในจำนวนพนักงานทั้งหมดที่ถูกปลดระลอกล่าสุดนี้ รวมถึงพนักงานของช้อปปี้ประมาณ 100 ราย และทุกคนได้รับแจ้งเรื่องการถูกปลดจากตำแหน่งตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ (14 พ.ย.) ซึ่งซีเริ่มดำเนินการปลดพนักงานหลายระลอกมาตั้งแต่เดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว

 ซี สูญเสียมูลค่าตลาดไปเกือบ 90% นับตั้งแต่ราคาหุ้นแตะระดับสูงสุดในปีที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนกังขาเกี่ยวกับแนวโน้มการทำรายได้ในยุคที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น และการแข่งขันที่ดุเดือด บริษัทจึงตัดสินใจลดพนักงาน รวมถึงปิดการดำเนินงานธุรกิจอีคอมเมิร์ซในบางตลาดของยุโรปและลาตินอเมริกา ทั้งยังประกาศลดการใช้จ่ายลง

แหล่งข่าวระบุว่า การปลดพนักงานครั้งล่าสุดนี้ ครอบคลุมถึงฝ่ายสรรหาบุคลากร, การจัดการความสัมพันธ์พนักงาน, การฝึกฝนและฝ่ายงานทรัพยากรมนุษย์อื่น ๆ ในสิงคโปร์และจีน

ทั้งนี้ ซี มีกำหนดรายงานผลประกอบการรายไตรมาสในวันอังคาร (15 พ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยนักวิเคราะห์ประมาณการว่า บริษัทจะเผชิญภาวะขาดทุนมากขึ้นและรายได้เติบโตในอัตราชะลอตัวที่สุดนับตั้งแต่ปี 2560 เมื่อเทียบเป็นรายปี

นอกจากนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ยังรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า ธนาคารเครดิตสวิส กรุ๊ป เริ่มปรับลดการจ้างงานเจ้าหน้าที่อาวุโสของธนาคารในภูมิภาคเอเชียแล้ว ซึ่งรวมถึงกรรมการผู้จัดการจำนวน 3 ตำแหน่งในธุรกิจวาณิชธนกิจและการเงิน ขณะที่ธนาคารยังคงเดินหน้าแผนการปรับลดจำนวนพนักงานทั่วโลกลง 9,000 ตำแหน่ง

นายธนาคารที่จะถูกปลดในครั้งนี้รวมถึง“จอห์นสัน ชุย” ผู้อำนวยการฝ่ายตลาดทุนประจำเอเชียแปซิฟิก, “คาเรน ยัป” เจ้าหน้าที่จากฝ่ายธุรกิจการเงิน และ“อี-ลิน ตัน” ผู้อำนวยการฝ่ายที่ปรึกษาด้านการจัดอันดับ

เครดิตสวิสกำลังยกเครื่องครั้งใหญ่ โดยมีเป้าหมายที่จะลดต้นทุนลงสู่ระดับ 2.5 พันล้านฟรังก์ (2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งภายใต้แผนปรับโครงสร้างนี้ เครดิตสวิสระบุว่า ธนาคารได้เริ่มปรับลดพนักงานจำนวน 2,700 ตำแหน่งในไตรมาส 4 และตั้งเป้าว่าจะลดจำนวนพนักงานลงประมาณ 9,000 ตำแหน่งภายในปี 2568

การปรับลดพนักงานในเอเชียมีขึ้นหลังจากธุรกรรมการทำข้อตกลงทางธุรกิจของเครดิตสวิสในประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของเครดิตสวิสทรุดตัวลงอย่างหนัก และหลังจากธุรกิจด้านการเงินของเครดิตสวิสในเอเชียประสบภาวะขาดทุน