รฟม.เปิด 4 โปรเจครางภูมิภาค ลุยตอกเสาเข็มปี 67 รับเมืองขยายตัว

รฟม.เปิด 4 โปรเจครางภูมิภาค ลุยตอกเสาเข็มปี 67 รับเมืองขยายตัว

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเตรียมทุ่มงบกว่า 5 หมื่นล้านบาท เดินหน้า 4 โครงการระบบขนส่งทางรางในภูมิภาครับการขยายตัวของเมือง เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว ตั้งเป้าทยอยตอกเสาเข็มภายในปี 2567

ในปลายปีนี้พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะมีโครงข่ายระบบรางเชื่อมต่อการเดินทางเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นอีก 2 โครงการ คือ รถไฟฟ้ารางเบา (โมโนเรล) สายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง ซึ่งจะส่งผลให้โครงข่ายระบบรางในหัวเมืองหลักอย่างกรุงเทพฯ สมบูรณ์แบบมากขึ้น

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เตรียมเดินหน้าขยายโครงข่ายระบบรางไปยังหัวเมืองภูมิภาคต่างๆ เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ผลักดันการขยายตัวของเมือง เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว โดยตามเป้าหมายขณะนี้มี 4 โครงการลงทุนที่อยู่ระหว่างศึกษา ในวงเงินลงทุนรวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น

โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต

ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง

วงเงินลงทุน 35,201 ล้านบาท

ระยะทาง 41.7 กิโลเมตร 21 สถานี

สถานะปัจจุบัน : อยู่ระหว่างการศึกษา/ออกแบบระบบที่เหมาะสม

แผนดำเนินงาน เบื้องต้นจะมีการนำเสนอโครงการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2562 ภายในเดือน พ.ค.- เม.ย.2567 คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในเดือน พ.ค.2567-มิ.ย.2568 ก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถ ในเดือน ก.ค.2568-พ.ย.2570 และเปิดให้บริการภายในเดือน ธ.ค.2570 เพื่อให้ทันการจัดงาน Specialised Expo 2028 ที่จังหวัดภูเก็ตอยู่ระหว่างการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ

โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา (สายสีเขียว)

ช่วงตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์

วงเงินลงทุน 2,300 ล้านบาท

ระยะทาง 11.15 กิโลเมตร 21 สถานี

สถานะปัจจุบัน : อยู่ระหว่างการศึกษา/ออกแบบระบบที่เหมาะสม

แผนดำเนินงาน เบื้องต้นคาดว่าโครงการจะเริ่มงานก่อสร้างในปี 2568 และเปิดให้บริการได้ในปี 2571 โดยจากการวิเคราะห์ด้านวิศวกรรมและจราจรด้านการลงทุนและผลตอบแทนและด้านสิ่งแวดล้อม และเปิดรับฟังข้อคิดเห็นจากชาวโคราช พบว่าระบบรถโดยสารไฟฟ้าประจำทางด่วนพิเศษ เป็นระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสมมากที่สุด

รฟม.เปิด 4 โปรเจครางภูมิภาค ลุยตอกเสาเข็มปี 67 รับเมืองขยายตัว

โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ (สายสีแดง)

ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี

วงเงินลงทุน 10,024 ล้านบาท

ระยะทาง 15.8 กิโลเมตร 16 สถานี

สถานะปัจจุบัน : อยู่ระหว่างการศึกษา/ออกแบบระบบที่เหมาะสม

แผนดำเนินงาน เบื้องต้นคาดว่าการจัดทำรายงานศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น รายงานรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานศึกษารูปแบบการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ  (PPP) จะแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.2565 หลังจากนั้นจะเริ่มขั้นตอนพิจารณารูปแบบการลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถ ก่อนเสนอโครงการไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในช่วงเดือน ม.ค.2567 และเริ่มคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในเดือน ส.ค.2567 โดยมีกำหนดเริ่มงานก่อสร้างในเดือน ก.ย.2568 แล้วเสร็จเปิดให้บริการในเดือน ธ.ค.2571

โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดพิษณุโลก (สายสีแดง)

ช่วงมหาวิทยาลัยพิษณุโลก – ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพิษณุโลก

วงเงินลงทุน 3,440 ล้านบาท

ระยะทาง 12.6 กิโลเมตร 15 สถานี

สถานะปัจจุบัน : อยู่ระหว่างการศึกษา/ออกแบบระบบที่เหมาะสม

แผนดำเนินงาน เบื้องต้นคาดว่าจะประกาศเชิญชวนเอกชนลงทุนได้ในเดือน ก.ย. 2565-ต.ค. 2566 และเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567 คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2569 โดยคาดว่าปริมาณผู้โดยสารตามแผนระยะที่ 1 มีผู้โดยสารประมาณ 5,700 คน-เที่ยววัน ในปีที่เปิดให้บริการ และเพิ่มเป็น 13,700 คน-เที่ยวต่อวันในปี 2574

รฟม.เปิด 4 โปรเจครางภูมิภาค ลุยตอกเสาเข็มปี 67 รับเมืองขยายตัว