สนข.ทุ่ม 5.5 พันล้านบาท ลุยจุดเชื่อมต่อล้อ - ราง - เรือ

สนข.ทุ่ม 5.5 พันล้านบาท ลุยจุดเชื่อมต่อล้อ - ราง - เรือ

สนข. ทุ่ม 5.5 พันล้านบาท เดินหน้าพัฒนาจุดเชื่อมต่อล้อ-ราง-เรือ พร้อมเสนอ “คมนาคม” เห็นชอบแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำ (W-Map) ภายใน มี.ค. 66

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงคืบหน้าโครงการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และการเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น (W-MAP) โดยระบุว่า ขณะนี้ สนข.อยู่ระหว่างการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งศึกษาและสำรวจเส้นทางการเดินเรือ เพื่อเพิ่มเส้นทางการเดินทางทางน้ำ แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดทางถนน 

นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนปรับปรุงท่าเรือที่เชื่อมต่อการขนส่งสาธารณะล้อ-ราง-เรือให้มีประสิทธิภาพที่ให้บริการในปัจจุบัน 8 จุด โดยเฉพาะท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา 4 จุด ประกอบด้วย ท่าเรือพระนั่งเกล้า ท่าเรือบางโพ ท่าเรือราชินีและท่าเรือสาทร ซึ่งคาดว่าจะเสนอแผนดังกล่าวให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบภายในเดือน มี.ค. 2566 ก่อนที่จะส่งให้หน่วยงานอื่นๆ นำแผนไปดำเนินการต่อไป

สำหรับนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่ให้เร่งรัดการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ ปัจจุบัน สนข. ได้บูรณาร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เพื่อจัดตั้งจุดจอดรถ บขส. เพื่อรับ-ส่ง ผู้โดยสาร โดยเฉพาะเส้นทางกรุงเทพฯ-สุพรรณบุรีที่วิ่งผ่านสถานีรถไฟฟ้า MRT พระนั่งเกล้า และท่าเรือพระนั่งเกล้า เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางทางเรือ และรถไฟฟ้าเข้าเมืองไปยังกรุงเทพฯ และอำนวยความสะดวกการเดินทางให้กับประชาชน คาดว่าจะเปิดให้รถ บขส.จอดรับ-ส่งได้ในช่วงต้นปี 2566

ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทาง ล้อ-ราง-เรือ ปัจจุบันมี 4 เส้นทาง ระยะทาง 65.4 กิโลเมตรครอบคลุมจำนวน 103 ท่าเรือ เชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น จำนวน 8 จุด​ แบ่งเป็น คลองแสนแสบ ได้แก่ 

1.ท่าเรือรามหนึ่ง เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต​ เรล ลิงก์ สถานีรามคำแหง 

2.ท่าเรืออโศก เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดิน (เอ็มอาร์ที)​ สายสีน้ำเงิน สถานีเพชรบุรี และแอร์พอร์ต​ เรล ลิงก์ สถานีมักกะสัน 

3.ท่าเรือสะพานหัวช้าง เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า (บีทีเอส)​ สายสีเขียวอ่อน สถานีราชเทวี และสายสีเขียวเข้ม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ

4.ท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพง เชื่อมต่อกับเอ็มอาร์ที สถานีหัวลำโพง 

5.ท่าเรือสะพานพระนั่งเกล้า เชื่อมกับเอ็มอาร์ทีสายสีม่วง สถานีสะพานพระนั่งเกล้า 

6.ท่าเรือบางโพ เชื่อมต่อกลับเอ็มอาร์ทีสายสีน้ำเงิน สถานีบางโพ 

7.ท่าเรือราชินี เชื่อมกับเอ็มอาร์ทีสายสีน้ำเงิน สถานีสนามไชย 

8.ท่าเรือสาทร เชื่อมกับบีทีเอสสายสีเขียวเข้ม สถานีสะพานตากสิน

นายปัญญา กล่าวอีกว่า จุดเชื่อมต่อการเดินทาง ล้อ-ราง-เรือ ทั้ง 8 จุดดังกล่าว เป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาการเดินทางทางน้ำ (W-Map) แบ่งออกเป็น 2 ระยะ วงเงินประมาณ 5.5 พันล้านบาท ได้แก่

ระยะสั้น (ระยะที่ 1) ระหว่างปี 2565-2570 ที่ตั้งเป้าพัฒนาทั้งหมด จำนวน 26 จุด รวมจุดเชื่อมต่อทั้งหมดเป็น 34 จุดงบประมาณในการพัฒนาอยู่ที่ 3.4 พันล้านบาท 

ระยะยาว (ระยะที่ 2) ระหว่างปี 2571-2575 จะเพิ่มการพัฒนาอีก 6 จุด รวมเป็น 40 จุด คาดว่าจะใช้งบประมาณในการพัฒนาจำนวน 2.1 พันล้านบาท 

สำหรับแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำ ระหว่างปี 2565-2575 เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ คาดว่าเส้นทางทางน้ำจะเพิ่มขึ้น 131.2 กิโลเมตร ท่าเรือเพิ่มขึ้น 97 ท่าเรือ แบ่งเป็น 

S1 เส้นทางเดินเรือในคลองแสนแสบส่วนต่อขยายช่วงวัดศรีบุญเรืองถึงถนนสุวินทวงศ์ ระยะทาง 12 กิโลเมตร จำนวน16 ท่าเรือ 

S2 เส้นทางเดินเรือในคลองบางลำพู ช่วงสะพานผ่านฟ้าลีลาศถึงป้อมพระสุเมรุ ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร จำนวน 3 ท่าเรือ 

S3 เส้นทางเดินเรือในคลองลาดพร้าว ช่วงสายไหมถึงพระโขนง ระยะทาง 25.7 กิโลเมตร จำนวน 23 ท่าเรือ 

S4 เส้นทางเดินเรือในคลองขุดมหาสวัสดิ์ ช่วงประตูน้ำมหาสวัสดิ์ถึงวัดชัยหฤกษมาลา ระยะทาง 28 กิโลเมตร จำนวน13 ท่าเรือ 

S5 เส้นทางเดินเรือในคลองบางกอกน้อย ช่วงวัดชะลอถึงศิริราช ระยะทาง 7.1 กิโลเมตร จำนวน 11 ท่าเรือ

ส่วนระยะยาว ระหว่างปี 2571-2575 ระยะทางรวมประมาณ 56.9 กิโลเมตร แบ่งเป็น

L1 เส้นทางเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนต่อขยายช่วงปากเกร็ดถึงที่ว่าการอำเภอเมืองจังหวัดปทุมธานี ระยะทาง 15 กิโลเมตร จำนวน 3 ท่าเรือ 

L2 เส้นทางเดินเรือในคลองเปรมประชากร ช่วงวัดรังสิตถึงบางซื่อ ระยะทาง 20.5 กิโลเมตร จำนวน 20 ท่าเรือ 

L3 เส้นทางเดินเรือในคลองประเวศบุรีรมย์ส่วนต่อขยาย ช่วงตลาดเอี่ยมสมบัติถึงวัดสังฆราชา ระยะทาง 21.4 กิโลเมตรจำนวน 8 ท่าเรือ 

ซึ่งเมื่อพัฒนาแล้วเสร็จจะส่งผลให้มีการใช้บริการเพิ่มขึ้น 36.57% จากจำนวน 61,129 คนต่อวัน ในปี 2565 และคาดการณ์ว่าในช่วง 5 ปีแรกเพิ่ม 8.06% และ 10 ปี เพิ่มเป็น 36.57%​