ส่องปัญหา ‘อุตฯการบิน’ หลังโควิด ดีมานด์ล้น ทำเที่ยวบินดีเลย์

ส่องปัญหา ‘อุตฯการบิน’ หลังโควิด ดีมานด์ล้น ทำเที่ยวบินดีเลย์

ทอท.เปิดต้นตอสารพัดปัญหาอุตสาหกรรมการบินเมื่อโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ซัพพลายฟื้นตัวไม่ทันดีมานด์ ชี้ 365 วันหลังจากนี้รับมือความโกลาหลสนามบินแออัด เที่ยวบินดีเลย์ สัมภาระคั่งค้าง

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์การบินตอนนี้เรียกได้ว่าอยู่ในช่วงการเติบโตไม่สมดุล เกิดจากความต้องการการเดินทาง (ดีมานด์) ของผู้โดยสารเพิ่มสูงอย่างก้าวกระโดด หลังจากโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ขณะที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการบิน (ซัพพลาย) ยังฟื้นตัวไม่เต็ม 100% หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีลดต้นทุน ปรับลดพนักงานออกไปบางส่วน

“ตลอดทั้งปี 2566 หรือใน 365 วันหลังจากนี้ จะเกิดความโกลาหล ความไม่สมดุลระหว่างดีมานด์และซัพพลายเช่นนี้ ก่อนที่จะเตรียมเข้าสู่ช่วงการฟื้นตัวในสถานการณ์ปกติช่วงปี 2567 เพราะความอัดอั้นการเดินทางของผู้โดยสารฟื้นตัวเร็ว ในขณะที่ผู้ประกอบการทั้งอยู่ในช่วงทยอยฟื้นตัว ซึ่งจะเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหากระเป๋าล่าช้า เที่ยวบินล่าช้า ความแออัดในจุดเช็คอิน หรือด่านตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วโลก”

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เกิดขึ้นกับซัพพลายในขณะนี้ ต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมาหลายสายการบินปรับลดพนักงาน ปรับฝูงบินด้วยการคืนหรือขายอากาศยานออกไปบ้าง ทำให้ปัญหาของการปรับลดไซส์องค์กรที่เกิดขึ้นนั้น เมื่อดีมานด์กลับมาอย่างก้าวกระโดด จึงทำให้ประสบปัญหาความล่าช้า

โดยปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงธุรกิจสายการบิน แต่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบิน เช่น แท็กซี่ภายในสนามบินก็ประสบปัญหาขาดแคลน เนื่องจากแท็กซี่ที่ลงทะเบียนให้บริการภายในท่าอากาศยานที่ผ่านมายังกลับมาให้บริการไม่เต็ม 100% อย่างท่าอากาศยานดอนเมืองที่มีแท็กซี่ลงทะเบียนไว้ 2.5 พันคัน ขณะนี้กลับมาให้บริการเพียง 500 คัน ส่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิลงทะเบียนไว้ 5 พันคัน ปัจจุบันกลับมาให้บริการราว 2.5 พันคัน ส่งผลให้ผู้โดยสารได้รับผลกระทบต้องรอคิวแท็กซี่เป็นเวลานาน

ด้านสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เผยว่า ในช่วงที่มีปริมาณความต้องการเดินทางสูง หลังจากผ่านวิกฤติโควิด-19 ขณะที่สายการบินยังมีข้อจำกัดในเรื่องของเครื่องบิน และพนักงานให้บริการ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกแก่ผู้โดยสาร มีการบริการที่ล่าช้าไปบ้างนั้น กพท.ได้ติดตามสถานการณ์เรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และยังคงเน้นย้ำถึงมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้โดยสารในกรณีที่ใช้บริการสายการบินของไทยและประสบปัญหาสายการบินยกเลิกเที่ยวบิน หรือเที่ยวบินล่าช้า

โดยตามประกาศกระทรวงคมนาคม ระบุว่าไว้ กรณีสายการบินยกเลิกเที่ยวบิน หรือ ปฏิเสธการขนส่งผู้โดยสารเนื่องจากมีผู้โดยสารเกินที่นั่งบนเครื่องบิน (Overbooking) ผู้โดยสารจะได้รับการปฏิบัติจากสายการบิน ดังนี้

1. ได้รับเงินค่าโดยสารคืน หรือ เปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน หรือ เดินทางโดยการขนส่งทางอื่น และ

2. ได้รับการดูแลจากสายการบิน

• อาหารและเครื่องดื่ม

• โทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail

• ที่พักพร้อมการขนส่งระหว่างสนามบินกับที่พัก (ถ้าต้องพักค้างคืน)

3. ได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 1,200 บาท หรือชำระเป็น Travel Voucher โดยได้ความยินยอมจากผู้โดยสาร เว้นแต่ สายการบินพิสูจน์ได้ว่าการยกเลิกเที่ยวบินเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัยหรือสายการบินได้แจ้งการยกเลิกเที่ยวบินก่อนวันเวลาเดินทางไม่น้อยกว่า 3 วัน หรือสายการบินเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินให้แก่ผู้โดยสารไปยังจุดหมายที่ระบุในบัตรโดยสารได้ภายในไม่เกิน 3 ชั่วโมง จากเวลาเดิม

กรณีเที่ยวบินล่าช้า ผู้โดยสารจะได้รับการปฏิบัติจากสายการบิน ดังนี้

1. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 2 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 3 ชั่วโมง

• อาหารและเครื่องดื่ม และโทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail

• ได้รับเงินค่าโดยสารคืน กรณีไม่ประสงค์จะเดินทางต่อ

2. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 3 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 5 ชั่วโมง

• อาหารและเครื่องดื่ม และโทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail

• ได้รับเงินค่าโดยสารคืน หรือ เปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน หรือ เดินทางโดยการขนส่งทางอื่น

3. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 5 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 6 ชั่วโมง

• อาหารและเครื่องดื่ม และโทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail

• ได้รับเงินค่าโดยสารคืน หรือ เปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน หรือ เดินทางโดยการขนส่งทางอื่น และ

• ค่าชดเชยเป็นเงินสดจำนวน 600 บาท หรือชำระเป็น Travel Voucher โดยได้ความยินยอมจากผู้โดยสาร เว้นแต่ สายการบินพิสูจน์ได้ว่าเที่ยวบินล่าช้าเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัย

4. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 6 ชั่วโมง

• สายการบินต้องปฏิบัติต่อผู้โดยสารเช่นเดียวกับมาตรการในเรื่องการยกเลิกเที่ยวบิน