ทอท.คาดปีหน้าผู้โดยสาร ‘ฟื้นตัว’ 96 ล้านคน

หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายและหลายประเทศปลดล็อกมาตรการให้ประชาชนสามารถเดินทางข้ามประเทศได้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 เป็นต้นมา ส่งผลให้มีชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบฯ 2565 มีนักท่องเที่ยวใช้บริการสนามบินจำนวนประมาณ 45.6 ล้านคน

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท.นิตินัย ศิริสมรรถการ ระบุ หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายและหลายประเทศปลดล็อกมาตรการให้ประชาชนสามารถเดินทางข้ามประเทศได้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 เป็นต้นมา ส่งผลให้มีชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2565 (1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2565) มีนักท่องเที่ยวใช้บริการสนามบินจำนวนประมาณ 45.6 ล้านคน หรือราว 1 ใน 3 ของช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19

ทอท.จึงคาดการณ์ว่าในปี 2566 ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ หาดใหญ่ ภูเก็ต และแม่ฟ้าหลวงเชียงราย จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึง 96 ล้านคน ฟื้นตัว 68% เมื่อเทียบกับจำนวนผู้โดยสารก่อนการแพร่ระบาด และคาดว่าในปี 2567 จะกลับมาฟื้นตัวเป็นปกติเทียบกับก่อนเกิดโควิด-19 มีจำนวนผู้โดยสารถึง 142 ล้านคน 

นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าไตรมาส 1 ของปีงบประมาณ 2567 หรือช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงตารางบินฤดูหนาว ฤดูการท่องเที่ยวจะเป็นไตรมาสที่มีปริมาณผู้โดยสารกลับมาฟื้นตัวสูงสุดเทียบเท่าก่อนเกิดโควิด-19 โดยคาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ย 2 แสนคนต่อวัน และทำให้ตลอดทั้งปีงบประมาณ 2567 ทอท.จะสามารถทำกำไรได้หลักพันล้านบาท

 ซูเปอร์แอปฯ SAWASDEE by AOT ‘ตัวช่วย’ นักเดินทาง

การท่องเที่ยวไทยในปีหน้าจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง นอกจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัวแล้ว ความต้องการด้านบริการก็อาจเปลี่ยนไปด้วย ทอท. จึงนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพัฒนาบริการในทุกมิติ โดยจะผลักดัน SAWASDEE by AOT ให้กลายเป็น Thailand Travel Super App ตัวช่วยหลักของนักท่องเที่ยวตลอดการเดินทาง ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานท่าอากาศยานไทยให้ทันสมัย สามารถส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ สมฐานะเมืองท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ที่ครองใจคนทั่วโลกมาอย่างยาวนาน

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สกาย ไอซีที สิทธิเดช มัยลาภ ระบุ การพัฒนาแอปพลิเคชัน SAWASDEE by AOT ให้เป็น Thailand Travel Super App ที่ครอบคลุมความต้องการของนักท่องเที่ยว นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการนำเทคโนโลยีมาผสานกับไลฟ์สไตล์ผู้คน ซึ่งจะพลิกโฉมภาพลักษณ์ของประเทศไทย และยกระดับบริการด้านการท่องเที่ยวไทยให้ก้าวสู่ดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมเป็นครั้งแรก มุ่งเชื่อมต่อเทคโนโลยีเข้ากับการดำเนินชีวิตของคนไทย และเชื่อมโยงระบบนิเวศทางเทคโนโลยี (Tech Ecosystem) ของประเทศไทยให้ครบสมบูรณ์ โดยตั้งเป้ายอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน 4 ล้านผู้ใช้งาน ในปี 2567 และคาดว่าจะมียอดดาวน์โหลด 10 ล้านผู้ใช้งาน ภายใน 5 ปีหรือประมาณปี 2570