โอกาสใหม่อุตสาหกรรมไทย ดึงลงทุนซัพพลายเชนแห่งอนาคต

โอกาสใหม่อุตสาหกรรมไทย ดึงลงทุนซัพพลายเชนแห่งอนาคต

ท่ามกลางวิกฤติและการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์โลก ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ โอกาสเร่งเดินหน้าปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของไทยสู่การสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่สร้างการเติบโตเศรษฐกิจประเทศระยะยาว

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม จัดงานสัมมนาประจำปี OIE Forum 2022 ในหัวข้อ “Disruptive Change is the New Chance วิกฤติพลิก โอกาสใหม่ของอุตสาหกรรมไทย” เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2565 โดยเปิดเวทีเสวนาระหว่างภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการในประเด็นทิศทางอุตสาหกรรมไทยในอนาคต

วรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากวิกฤติต่างๆ โดยเฉพาะผลจากโควิด-19 อย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ตั้งแต่การล็อกดาวน์ครั้งแรกในไทยกลางปี 2563 ปัญหาการติดโควิดในโรงงาน จนกระทั่งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ปะทุขึ้นในปีนี้ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการผลิตมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว อาทิ การทำมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล การหาวัตถุดิบจากแหล่งใหม่ ทั้งยังเป็นโอกาสในการพัฒนาสินค้าใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นในตลาด อาทิ ถุงมือยาง เครื่องมือแพทย์ ปิโตรเคมี
 

นอกจากนี้ วิกฤติที่ผ่านมายังเป็นตัวเร่งให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่ช่วงการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ที่เห็นได้ชัดอันดับแรกคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ที่ภาครัฐขับเคลื่อนนโยบายดึงดูดการลงทุนอย่างเต็มรูปแบบเพื่อรักษาศักยภาพในการแข่งขันของไทยในฐานะฐานการผลิตรถยนต์ของภูมิภาค รวมทั้งการยกระดับอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ และมีฐานซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร

ทั้งนี้ สศอ.จะมุ่งผลักดันให้ภาคธุรกิจเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการใช้ทรัพยากรที่นำเข้ามาให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ ธุรกิจรีไซเคิลแบตเตอรี่ แผงโซลาร์เซลล์หมดอายุ และรถยนต์เก่า (ELV) เพื่อลดการพึ่งพิงการผลิตสินค้า และการนำเข้าวัตถุดิบจากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง และหันมาส่งเสริมการผลิตที่สามารถสร้างสายการผลิต และมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นภายในประเทศ นำไปสู่การขับเคลื่อนภาคการผลิตและบริการแห่งอนาคตที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง

รวมทั้งส่งเสริม SMEs และวิสาหกิจชุมชนให้มีผลิตภาพ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อย่างสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัล ควบคู่ไปกับการเพิ่มโอกาสทางการตลาด และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการทุกระดับ

นอกจากนี้ ภาครัฐยังเร่งให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษ "ระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค" เพื่อลดการเคลื่อนย้ายแรงงานแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทั้งยังเป็นกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ในกระบวนการผลิตสินค้า สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาคมโลก ผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันความท้าทายที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญ ประกอบไปด้วย ต้นทุนพลังงานไฟฟ้าที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นเพื่อรับมือกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ และการปรับตัวขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำ 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีโอกาสในช่วงวิกฤติการขาดแคลนอาหาร เมื่อหลายประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรประกาศงดการส่งออกเพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ ขณะที่ไทยมีผลผลิตการเกษตรเกินความต้องการ

นอกจากนี้ การผ่อนคลายมาตรการการเดินทางของจีนอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาทิ การเดินทางเพื่อการศึกษา จะทำให้สถิตินักท่องเที่ยวในปีนี้อยู่ที่ 10 ล้านคน รวมทั้งคาดว่าในปีหน้าจะมีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาถึง 20 ล้านคน หากรวมกับการเปิดประเทศเต็มที่ของจีนอาจทำให้มีนักท่องเที่ยวถึง 25 ล้านคน

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมได้รับความท้าทายมากมาย ตั้งแต่การเกิดดิจิทัลดิสรัปชั่น และสงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจ สภาอุตสาหกรรมฯ จึงเร่งผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อรีบปรับตัวก่อนที่จะโดนดิสรัป ชั่น ซึ่งเทรนด์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้จุดแข็งเดิมของภาคอุตสาหกรรมไทย อาทิ แรงงานราคาถูก และมีจำนวนมาก หมดข้อได้เปรียบในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ในความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้า กลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทคจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด อาทิ เอไอ ควอนตัมคอมพิวติ้ง ซึ่งไทยจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักเนื่องจากภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมเดิม ทั้งนี้ ในการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเกิดขึ้น ไทยยังมีจุดแข็งที่มีโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ขณะที่จุดอ่อนคือ รัฐต้องเร่งออกนโยบายกำหนดทิศทางที่จะผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมเร่งการลดปล่อยคาร์บอน เพื่อรับมือกับกฎระเบียบใหม่ของโลก อาทิ การเก็บภาษีคาร์บอน

วันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในระยะต่อไป กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงเดินหน้าผลักดันการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญอย่างต่อเนื่อง อาทิ 

การส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ โดยสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในภาคเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาการแปรรูปสินค้าเกษตรและยกระดับไปสู่ผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมเกษตรแปรรูป นำ Internet of Things (IoT)

การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจะเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมชีวภาพ แปรรูปอาหาร หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ การแพทย์ครบวงจร

การพัฒนาผู้ประกอบการ และภาคการผลิตไปสู่ 4.0 สร้างและพัฒนาผู้ประกอบการอัจฉริยะ ส่งเสริม SMEs และวิสาหกิจชุมชนให้มีผลิตภาพ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อย่างสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัล ควบคู่ไปกับการเพิ่มโอกาสทางการตลาด

การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาคมโลก ผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG การพัฒนาอุตสาหกรรมในมิติพื้นที่ เพื่อกระจายผลประโยชน์จากการพัฒนาให้ทั่วถึง และครอบคลุม

การยกระดับการให้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการที่สะดวก และรวดเร็ว บูรณาการ และเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์