สภาที่ปรึกษาฯ ชง 5 แนวทางเวทีผู้นำ APEC

 สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการประชุม APEC ในเดือนพฤศจิกายนนี้ และได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อนำส่งรายงานประจำปี 2565 ที่รวบรวมข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  หรือ ส.อ.ท. ในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค หรือ ABAC เกรียงไกร เธียรนุกุล ระบุ  สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการประชุม APEC ในเดือนพฤศจิกายนนี้ และได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อนำส่งรายงานประจำปี 2565 ที่รวบรวมข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน โดยมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการจัดการเงินเฟ้อ การขจัดความไม่มั่นคงทางอาหารและพลังงาน การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม การบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคของ APEC

ด้านประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สนั่น อังอุบลกุล ระบุ ข้อเสนอที่ ABAC เตรียมเสนอให้ผู้นำ APEC ประกอบด้วย 5 ประเด็นหลัก คือ

1.Regional Economic Integration เส้นทางสู่เขตการค้าเสรีของเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) และการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการค้าภาคบริการ โดย FTAAP ควรตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจระดับโลกที่ค่อยๆ พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกัน นวัตกรรมจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตในภูมิภาค โดยเฉพาะในภาคบริการ ซึ่งจะต้องผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมนวัตกรรม ในด้านบริการดิจิทัลที่สนับสนุนอีคอมเมิร์ซ บริการทางโลจิสติกส์ บริการด้านสุขภาพ และบริการด้านสิ่งแวดล้อม

2.การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อความปลอดภัยทางไซเบอร์และดิจิทัล เพราะถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เป็นการปกป้องความก้าวหน้าและนวัตกรรมต่าง ๆ จึงขอเรียกร้องให้เอเปคสร้างแพลตฟอร์มในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับภูมิภาค ที่จะประสานการดำเนินการและการลงทุนด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ร่วมกัน

3.การเสริมสร้างแนวทางการปฏิบัติที่ยั่งยืนของ MSMEs สนับสนุนการเติบโตต่อเนื่อง ภายใต้กรอบการทำงานและการค้าระดับโลก ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง การบูรณาการกับห่วงโซ่คุณค่า และการสนับสนุนมาตรการนี้ให้เป็นสากล

4.Sustainability ส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น เนื่องจากผู้ผลิตและผู้บริโภคในภูมิภาคกำลังได้รับผลกระทบอย่างมากจากราคาอาหารโลกที่พุ่งสูงขึ้น จึงต้องเร่งดำเนินการ “แผนงานความมั่นคงด้านอาหารของ APEC สู่ปี 2030” มีการการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต การจำหน่ายและการค้า ตลอดจนการนำ Bio-Circular-Green (BCG) มาปรับใช้

และ 5.Finance and Economics การดำเนินการตามมาตรการเศรษฐกิจมหภาค การคลัง และการเงิน เพื่อเร่งการฟื้นตัว และการปฏิรูปโครงสร้างหลัก เพื่อเพิ่มผลผลิตและการเติบโต โดยจะต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ และนโยบายทางการเงินด้านอัตราค่าจ้างแรงงาน ทั้งนี้ ในระยะยาว รัฐบาลควรปฏิบัติตามสองเป้าหมาย คือการการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง และการใช้เครื่องมือทางการเงิน เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างในการพัฒนาสู่ระบบดิจิทัล และความยั่งยืนอย่างครอบคลุม