พิษโควิด สงคราม ราคาน้ำมัน ฉุดราคายางพาราเฉลี่ยปีนี้ลดลง

พิษโควิด สงคราม ราคาน้ำมัน ฉุดราคายางพาราเฉลี่ยปีนี้ลดลง

ในปีนี้ภาวะเศรษฐกิจของไทยและของโลก ถูกรุมเร้าด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจถดถอย เช่นเดียวกับราคายางพารา ที่แม้ว่าช่วงต้นปีทำท่าจะดีขึ้น แต่สถานการณ์ครึ่งปีหลังแนวโน้มราคาที่เกษตรกรได้รับดิ่งลงอย่างเห็นได้ชัด

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท  ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่าต้องยอมรับว่าผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 รุนแรงมากแม้จะส่งผลให้ไทยส่งออกถุงมือยางได้ในช่วงแรกที่เกิดการระบาด แต่ปัจจุบัน จีนได้ตั้งโรงงานผลิตถุงมือยางเองในประเทศ ทำให้กลายเป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก  ดังนั้นการส่งออกถุงมือยางของไทยจึงแข่งขันได้ลำบาก

                 ในขณะที่สงครามยูเครน-รัสเซีย  ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งในสมัยก่อน อาจส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยางธรรมชาติ  แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไป ยางสังเคราะห์เข้ามาแทนที่ในอุตสาหกรรมยางพารามากขึ้น และเป็นผลต่อราคาเฉลี่ยยางพาราของไทยปีนี้มีแนวโน้มลดลง

พิษโควิด สงคราม ราคาน้ำมัน ฉุดราคายางพาราเฉลี่ยปีนี้ลดลง พิษโควิด สงคราม ราคาน้ำมัน ฉุดราคายางพาราเฉลี่ยปีนี้ลดลง

“  กรณีที่จีนประกาศมาตรการควบคุมการจำกัดโรคโควิด-19 โดยนโยบายโควิดเป็นศูนย์ หรือ Zero covid อย่างเข้มงวด ส่งผลกระทบกับการส่งออกยาง ดังนั้นจึงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ซึ่ง กยท. ก็มีมาตรการ ต่างๆ ที่จะเข้ามาดูแล ทั้งเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง โดยมี โครงการรักษาเสถียรภาพราคายางโครงการชะลอยาง โครงการสินเชื่อผู้ประกอบกิจการยางแห้ง โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น”

นอกจากนี้ในประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ในวันที่ 31  ต.ค. 65 นี้ จะพิจารณาโครงการประกันรายได้ เกษตรกร เฟส 4 ระยะเวลาดำเนินโครงการ 6 เดือน คาดว่าจะใช้งบดำเนินการทั้งสิ้น  1.6 หมื่นล้านบาท  เป็นการรองรับและจะสามารถเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันทีกรณีหากมีปัญหาเกิดขึ้น    

                โดยเกณฑ์การชดเชยยางพาราต้องมีอายุ 7 ปีขึ้นไป เปิดกรีดแล้ว ชดเชยให้รายละไม่เกิน 25 ไร่ เวลาประกันเป็นระยะเวลา 6 เดือน ราคายางแผ่นดิบคุณภาพดีประกันที่ ราคา 60 บาท/กก. น้ำยางสด (DRC 100%) ราคาประกัน 57 บาท/กก. ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคาประกัน 23 บาท/กก. แบ่งสัดส่วนรายได้เจ้าระหว่างเจ้าของสวนและคนกรีด สัดส่วน 60% ต่อ 40% ของรายได้ทั้งหมด

                สำหรับ สถานการณ์ยางพารา ปี 2565  มีเนื้อที่ยืนต้น จำนวน 24.158 ล้านไร่ ลดลง จากปีที่แล้ว 308,484 ไร่ หรือร้อยละ 1.26 เนื้อที่กรีดได้ จำนวน 21.909 ล้านไร่ ลดลง จากปีที่แล้ว 66,710 ไร่ หรือร้อยละ 0.30 เนื่องจากเกษตรกรโค่นต้นยางอายุมากที่ให้ผลผลิตได้น้อย แล้วปรับเปลี่ยนไปปลูกไม้ผล ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง เป็นต้น ซึ่งให้ผลตอบแทนดีกว่า ประกอบกับภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญมีการระบาดของโรคใบร่วง

โดยในปีนี้คาดว่าจะได้ผลผลิตยางแห้ง จำนวน 4.753 ล้านตัน ลดลง จากปีที่แล้ว 65,546 ตัน หรือร้อยละ 1.36 ผลผลิตต่อเนื้อที่กรีดได้ จำนวน 222 กิโลกรัมต่อไร่ ลดลง จากปีที่แล้ว 1 กิโลกรัม หรือร้อยละ 0.45 เนื่องจากฝนตกชุกในพื้นที่ปลูกยาง ทำให้จำนวนวันกรีดลดลง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตที่ได้น้อยกว่าปีที่แล้ว ประกอบกับภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญ มีการระบาดของโรคใบร่วง และมีการใส่ปุ๋ยลดลงเนื่องจากปุ๋ยราคาสูง

ด้านปริมาณการใช้ ในประเทศคาดว่าจะมี 1.334 ล้านตัน เพิ่มขึ้น จากปีที่แล้ว 408,493 ตัน หรือร้อยละ 44.12 เนื่องจากความ

ต้องการใช้ยางเพื่อผลิตถุงมือยาง และเศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้ยางหลักเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว  รวมทั้งการรายงานข้อมูลการใช้ยางจากผู้ประกอบการมีการรายงานเข้าสู่ระบบมากขึ้น

                 ด้านการส่งออก คาดว่าจะมี 4.372 ล้านตัน เพิ่มขึ้น จากปีที่แล้ว 238,058 ตัน หรือร้อยละ 5.76 ส่วนสต็อกยางทั้งหมด ณ เดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ 770,487 ตัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม จำนวน 53,958 ตัน คิดเป็นร้อยละ 6.54  และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จำนวน 33,756 ตัน คิดเป็นร้อยละ 4.58 

และ ยางที่มีปริมาณคงเหลือมากที่สุด ได้แก่ ยางก้อนถ้วย (ร้อยละ 37.62) รองลงมาคือ เศษยาง (ร้อยละ 14.39) น้ำยางข้น 60% (ร้อยละ 13.28) ยางแท่ง (ร้อยละ 11.87) ยางแผ่นรมควัน (ร้อยละ 8.54) ยางแผ่นดิบ (ร้อยละ 5.08) ยางผสม (compound) (ร้อยละ 3.19 ยางเครพ (ร้อยละ 3.04) และ ยางอื่นๆ (ร้อยละ 3.00) ตามลำดับ สำหรับภูมิภาคที่ มีปริมาณยางคงเหลือมากที่ สุด คือ ภาคใต้ 375,924 ตัน รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 324,402 ตัน (กรมวิชาการเกษตร, 2565)

 รายงานจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) แจ้งว่าราคายางพาราเฉลี่ยที่เกษตรกรขายได้ในปี 2563 อยู่ที่ 44.65 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ปี 2564 เฉลี่ย 51.97 บาทต่อกก. และปี 65 ราคาเฉลี่ย(ม.ค.- มิ.ย.) 58.03 บาทต่อกก.

 ส่วนราคา เมื่อวันที่  14 ต.ค. 65  ประเภทยางแผ่นดิบอยู่กที่ 49.77 บาทต่อกก. ลดลงเมื่อเทียบกับวันที่ 11 ต.ค. 2565 ที่มีราคา 50.17 บาทต่อกก.