ความเชื่อมั่นอุตฯ-ผู้บริโภคฟื้น แนะอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ความเชื่อมั่นอุตฯ-ผู้บริโภคฟื้น แนะอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ถึงแม้ว่าจะมีสัญญาณเศรษฐกิจโลกถดถอย แต่ผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้มีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจัยสำคัญมาจากการคลี่คลายของโควิด-19 และการท่องเที่ยว แต่เริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับการส่งออกเพิ่มมากขึ้น

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือน ก.ย. 2565 อยู่ที่ระดับ 91.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 อย่างไรก็ตามค่าดัชนีฯ ยังต่ำกว่าระดับ 100 สะท้อนความเชื่อมั่นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับที่ไม่ดี

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงทำให้ภาครัฐยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร และยุติศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ (ศบค.) ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว

ขณะที่การบริโภคในประเทศมีทิศทางดีขึ้นโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นรวมถึงมาตรการภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่งเฟส 5 มาตรการดูแลราคาพลังงาน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนขณะที่ภาคการผลิต มีทิศทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องจักรกล วัสดุก่อสร้าง นอกจากนี้ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนยังอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับราคาพลังงาน ทั้งราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซธรรมชาติ และค่าไฟฟ้า รวมทั้งราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อคมนาคมและขนส่งสินค้า 

“ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเตรียมมาตรการรับมืออุทกภัยอย่างรัดกุม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาคการผลิตอย่างในปี 2554 ซึ่งนอกจากจะทำให้การผลิตต้องหยุดชะงักหลายเดือน ยังส่งผมต่อความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนไทยและต่างชาติ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงการตัดสินใจเคลื่อนย้ายฐานการผลิตจากจีน”

ด้านการส่งออกอุปสงค์ในตลาดโลกเริ่มชะลอลง เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ จีนยุโรป ตลอดจนปัญหาเงินเฟ้อที่มีผลกระทบจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่จีนยังคงดำเนินนโยบาย Zero Covid อย่างต่อเนื่องทำให้ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบและซัพพลายเชนยังไม่คลี่คลายส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตทั่วโลก

ความเชื่อมั่นอุตฯ-ผู้บริโภคฟื้น แนะอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,274 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในเดือน ก.ย.2565 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก 77.4% สถานการณ์การเมือง 45.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 37.8% ตามลำดับ

ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน 60.3% เศรษฐกิจในประเทศ 42.5% อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 35.8% และสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 34.2% ตามลำดับ

“สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เน้นตลาดส่งออกที่อยู่ในภาคตะวันออก เป็นกลุ่มที่มีดัชนีความเชื่อมั่นลดลงทั้งในเดือน ก.ย. และคาดการณ์อีก 3 เดือนข้างหน้า เนื่องจากกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว รวมทั้งในบางอุตสาหกรรมมีคำสั่งซื้อลดลงกว่า 30% ซึ่ง ส.อ.ท. จับตาดูสถานการณ์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายอย่างใกล้ชิด”

ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 2,242 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย.2565 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ที่ 44.6 จากเดือนส.ค.ที่อยู่ในระดับ 43.7 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่เดือนก.พ.2565 เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 38.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 41.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 53.3

อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทย และปัญหาค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นลดน้อยถดลงและระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากและเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากภาวะสงครามรัสเซียยูเครน ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

สำหรับผลกระทบจากน้ำท่วมใน 52 จังหวัด ศูนย์ฯ ประเมินว่าจะสร้างความเสียหายประมาณ 1.2- 2 หมื่นล้านบาท แยกเป็นภาคการเกษตร 6,000-8,000 ล้านบาท ภาคอุตสาหกรรม 6,000-12,000 ล้านบาท ซึ่งผลกระทบจากน้ำท่วมมีน้อย เฉลี่ยคิดเป็นความเสียหายรายจังหวัดประมาณ 100 ล้านบาท ถือว่ากระทบเศรษฐกิจไม่มาก โดยภาพรวมความเสียหายจะกระทบจีดีพีเพียง 1.0-1.5%

ส่วนความจำเป็นในการใช้มาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนั้น ขณะนี้เศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่การฟื้นตัวแล้ว แม้จะยังเติบโตได้ไม่โดดเด่น ซึ่งต้องรอดูความชัดเจนในไตรมาส 4 จากอานิสงส์ของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวแล้ว ทำให้ ธปท.จะเริ่มลดการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ด้วยการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ดังนั้น รัฐบาลอาจจะมองไม่เห็นความจำเป็นมากนักที่จะต้องใช้มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี เนื่องจากปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่สูง และที่ผ่านมา รัฐบาลก็ใช้งบประมาณไปกับการทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการช่วยเหลือประชาชนในเรื่องค่าครองชีพจากผลกระทบทางเศรษฐกิจไปค่อนข้างมากแล้ว แต่หากรัฐบาลเห็นว่ายังมีงบประมาณเพียงพอก็ทำมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงปลายปีได้ ผ่านโครงการช้อปดีมีคืน ซึ่งเป็นการเจาะเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อ ภายใต้วงเงินการใช้จ่าย 30,000 บาท จะเป็นอีกเครื่องมือในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ