ส.อ.ท. เผยยอดผลิตรถยนต์เดือน ส.ค. เพิ่มขึ้น 64.9% แจงปัญหายึดรถไร้ผลกระทบ

ส.อ.ท. เผยยอดผลิตรถยนต์เดือน ส.ค. เพิ่มขึ้น 64.9% แจงปัญหายึดรถไร้ผลกระทบ

ส.อ.ท. เผยยอดผลิตรถยนต์เดือน ส.ค. 2565 อยู่ที่ 171,731 คัน เพิ่มขึ้น 64.90% คาดผลิตได้ตามเป้าปีนี้ 1.75 ล้านคัน ด้วยปัจจัยหนุนผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และการผ่อนคลายโควิดสู่ระดับเฝ้าระวัง หนุนการฟื้นตัวภาคท่องเที่ยว ยันปัญหายอดยึดรถแสนคันไม่กระทบ

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดผลิตรถยนต์ เดือน ส.ค.65 จำนวน 171,731 คัน เพิ่มขึ้น 64.90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากฐานของปีก่อนหน้าอยู่ในระดับต่ำเพราะมีการล็อกดาวน์ในช่วงกลางเดือน ก.ค.-ส.ค.64 ขณะที่ยอดผลิตเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้น 20.13% จากเดือนก่อน เพราะมีการผลิตรถยนต์นั่งรุ่นใหม่ขายในประเทศและผลิตรถกระบะและรถพีพีวีเพื่อขายในประเทศและส่งออกเพิ่มขึ้น

ส่งผลให้จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 1,184,800 คัน เพิ่มขึ้น 10.53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ คาดว่ายอดผลิตรถยนต์ในปีนี้น่าจะได้ตามเป้าที่ 1.75 ล้านคัน อย่างไรก็ตาม ภาพรวมอุตสาหกรรมยังมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนชิ้นส่วนและเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป)

ขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์เดือน ส.ค.65 อยู่ที่ 73,325 คัน เพิ่มขึ้น 23.09% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดส่งออกรถยนต์ช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.65) อยู่ที่ 606,055 คัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.40% โดยมีมูลค่าการส่งออกรถยนต์อยู่ที่ 551,483.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.80% เนื่องจากมีสัดส่วนส่งออกรถพีพีวีและรถกระบะเพิ่มขึ้นซึ่งมีมูลค่าสูงกว่ารถอีโคคาร์ ทั้งนี้ คาดว่ายอดส่งออกปีนี้น่าจะได้ตามเป้า 9 แสนคัน หากช่วงที่เหลือของปีนี้มียอดเท่ากับเดือนสิงหาคม

สำหรับยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือน ส.ค.65 มีจำนวนทั้งสิ้น 68,208 คัน เพิ่มขึ้น 61.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะฐานต่ำจากการล็อกดาวน์ในช่วงกลางเดือน ก.ค.-ม.ค.64 เช่นกัน และปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.52% จากเดือน ก.ค.65 เพราะมีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่และการได้รับชิ้นส่วนมากขึ้นในรถยนต์บางรุ่น รวมทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่ดีขึ้นจากการผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างประเทศเข้าประเทศสะดวกขึ้น และการส่งออกที่ยังเติบโต การจ้างงานเพิ่มขึ้น เกษตรกรและประชาชนมีรายได้ดีขึ้น ซึ่งในช่วงเดือนนี้เมื่อปีก่อนมีการล็อกดาวน์ คนที่จองไว้ก็ไม่รับรถ ไม่มีคนเดินเข้าศูนย์

ขณะเดียวกันในเดือนส.ค. 65 ยอดจดทะเบียนใหม่ยานยนต์ไฟฟ้ามีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว หลังจากบอร์ดอีวีได้อนุมัติมาตรการสนับสนุนด้านราคา โดยมียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 2,304 คัน เพิ่มขึ้น 391.26% จากเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว แบ่งเป็นยานยนต์ประเภทไฟฟ้า (HEV) จดทะเบียนใหม่ 5,828 คัน เพิ่มขึ้น 102.01% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และประเภทไฟฟ้า (PHEV) จดทะเบียนใหม่ 987 คัน เพิ่มขึ้น 52.31% จากส.ค.ปีก่อน 
 
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ภาวะอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้น่าจะมีแนวโน้มที่ดีเนื่องจากมีหลายปัจจัยบวก ได้แก่ การแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ การผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 และเตรียมปรับให้เป็นโรคเฝ้าระวัง การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การประกันราคาสินค้าเกษตร การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น ส่วนปัญหาการยึดรถนั้นยังมีปริมาณไม่สูงมากนักหากเทียบกับยอดขาย